มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับ “รางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10” (NACC Integrity Awards)
ภาพ/ข่าว:ศูนย์ข่าวจังหวัดเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับ “รางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10” (NACC Integrity Awards)
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับ “รางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10” (NACC Integrity Awards) จาก พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ณ ห้องนนทบุรี 1 ชั้น 2 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมารางวัลดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการมอบรางวัลที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ดำเนินการภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพื่อส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลภายในองค์กร ที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรธุรกิจเอกชน สมัครเข้าร่วมโครงการและส่งข้อมูลเข้ารับการพิจารณา เพื่อยกย่องเชิดชูหน่วยงานที่มีความพยายามสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในสังคมไทยผ่านการดำเนินงานของตนเอง ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ สะท้อนถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเท ทำงานหนัก เต็มความสามารถ ยึดมั่น ในหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ถูกต้อง และมีจริยธรรม เป็นไปตามกรอบและแนวทางการบริหารองค์กร
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การได้รับรางวัลครั้งนี้ถือเป็นการสะท้อนถึงการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยและทุกส่วนงานได้มุ่งมั่นให้การบริการที่มีประสิทธิภาพแก่นักศึกษา บุคลากร ผู้รับบริการ และประชาชนทั่วไป ยึดหลักความเสมอภาค ความเท่าเทียม เพื่อร่วมกันพัฒนาให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปสู่การเป็นองค์กรโปร่งใสอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเพียงสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่ได้รับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10 ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10 จำนวน 3 หน่วยงาน และรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10 จำนวน 17 หน่วยงาน
สำหรับเกณฑ์การพิจารณารางวัล ประกอบด้วย 4 หมวด จำนวน 65 ข้อคำถาม ได้แก่
1. องค์กรมีความพร้อมรับผิดชอบ (Accountability) ต่อผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคมและสิ่งแวดล้อม จากการปฏิบัติภารกิจหรือการให้บริการ มีนโยบาย รวมถึงแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบ และมีแนวปฏิบัติในการจัดการข้อร้องเรียนที่ตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. องค์กรปฏิบัติภารกิจยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) มีแนวปฏิบัติเพื่อกำกับให้องค์กรปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่องค์กรได้รับมอบหมาย
3. องค์กรให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ร่วมงาน และปฏิบัติตามแนวทางจริยธรรมที่เป็นสากล (International Norms of Ethical Practices)
4. องค์กรดำเนินภารกิจ และมีระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสมีการป้องกันการทุจริต และป้องกันการให้หรือรับสินบน