นครปฐม-ประเภทของการขึ้นทะเบียนเกษตรกร
ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน
ขอบคุณข้อมูล:สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม
ประเภทของการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ในการรับเงินเยียวยา โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19
จากมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร 15,000 บาท การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะต้องเป็นไปตามคำนินามเกษตรกร คือ บุคคลธรรมดาที่ประกอบการเกษตร และนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบการเกษตร และได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนตามระเบียบฯ ส่วนนิยามของครัวเรือน คือ บุคคลเดียว หรือหลายคนที่อาศัยอยู่ในบ้านหรือสถานที่เดียวกัน และจัดหาหรือใช้สิ่งอุปโภคบริโภคอันจำเป็นแก่การครองชีพร่วมกัน ซึ่งกำหนดให้ 1 ทะเบียนบ้าน เป็น 1 ครัวเรือน โดยแยกหลักเกณฑ์ตามหน่วยงานต่างๆ ได้ดังนี้
กรมส่งเสริมการเกษตร
1.การทำนา หรือทำไร่ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน 1 ไร่ขึ้นไป
2.การปลูกผัก หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือการเพาะเห็ด หรือการปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างใดอย่างหรือรวมกัน 1 งานขึ้นไป
3.การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น หรือการปลูกสวนป่า หรือปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกัน 1 ไร่ขึ้นไป และมี 50 ต้นขึ้นไป
4.การปลูกไม้ผล/ไม้ยืนต้นแบบสวนผสมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันอย่างน้อย 1 ไร่และมี 50 ต้นขึ้นไป
5.การเลี้ยงแม่โคนม 1 ตัวขึ้นไป
6.การเลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน 2 ตัวขึ้นไป
7.การเลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน 5 ตัวขึ้นไป
8.การเลี้ยงสัตว์ปีก 50 ตัวขึ้นไป
9.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
10.การทำนาเกลือสมุทร 1 ไร่ขึ้นไป
11.การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน
12. การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่นๆ
13.ประกอบการเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ 12 ข้อ และมีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทต่อปีขึ้นไป
กรมปศุสัตว์
1.การเลี้ยงแม่โคนม 1 ตัวขึ้นไป
2.การเลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกัน 2 ตัวขึ้นไป
3.การเลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน 5 ตัวขึ้นไป
4.การเลี้ยงสัตว์ปีก 50 ตัวขึ้นไป
5.กรณีจำนวนสัตว์ที่เลี้ยงไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ต้องมีการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 1 ชนิด
กรมประมง
1.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) เช่น ฟาร์มเลี้ยง โรงเพาะฟัก ที่ทะเบียนเกษตรกรยังมีอายุอยู่
2.เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ทำการประมง (ทบ.3) ได้แก่ ทะเบียนชาวประมง (ภาคสมัครใจ) / ทะเบียนเจ้าของเรือประมงพื้นบ้าน / ทะเบียนผู้ได้รับอนุญาตทำการประมง / ทะเบียนผู้ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ตาม ม.174 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 / ทะเบียนคนประจำเรือประมงทั้งเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้าน (แรงงานไทย) ที่ทะเบียนเกษตรกรยังมีอายุอยู่
3.เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ม.175 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558
4.เกษตรกรได้จดแจ้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
5.ทะเบียนผู้จดแจ้งการประกอบกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ในพื้นที่ตามประกาศของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดตาม ม.77 พ.ศ.2558
6.การทำนาเกลือสมุทร 1 ไร่ขึ้นไป
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/