อาสาฬหบูชา เวลามหากุศล สร้างคนให้เป็นคน ฝึกตนในร่มกาสาวพัสตร์

อาสาฬหบูชา เวลามหากุศล สร้างคนให้เป็นคน ฝึกตนในร่มกาสาวพัสตร์

ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน

อาสาฬหบูชา เวลามหากุศล สร้างคนให้เป็นคน ฝึกตนในร่มกาสาวพัสตร์

          เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน ในวันที่อาตมาเขียนต้นฉบับจุดไฟในใจคนฉบับนี้ อาตมาเพิ่งจัดพิธีอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ประจำเดือนมิถุนายน 2565 ไป โครงการนี้ก็จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เดือนละครั้ง โดยเปิดโอกาสให้กุลบุตร ไม่ว่าจะมาจากไหน เป็นมาอย่างไรก็ตาม หากมีคุณสมบัติมิขัดต่อพระวินัยและกฎหมายบ้านเมือง และมีใจพร้อมอยากจะบวชเป็นพระ ก็สามารถเข้ามาสมัครอุปสมบทได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น มาแต่ตัว หัวใจ และเสื้อขาวสำหรับใส่มาบวชเท่านั้น สำหรับเดือนหน้านี้ก็จะจัดพิธีอุปสมบทอีก โดยจะจัดพิธีในโอกาสวันอาสาฬหบูชา 13 กรกฎาคม 2565 ต่อเนื่องเข้าสู่วันเข้าพรรษาในวันรุ่งขึ้น

             อาตมามีกำลังใจที่จะทำโครงการ ใช้วัดสร้างคน ปั้นคนให้เป็นคน ให้ออกมาเป็นคนที่ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน รู้คุณคน เป็นคุณธรรมพื้นฐานประจำใจที่ไปอยู่ไหนก็ย่อมเจริญอย่างแน่นอน อาตมาเชื่อมั่นว่าอย่างนั้น

            ในที่นี้จะขอกล่าวถึงวันอาสาฬหบูชาเสียก่อน วันอาสาฬหบูชานั้นจัดได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดอีกวันหนึ่งเช่นเดียวกับวันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา เนื่องจากเป็นวันที่เกิดพระสังฆรัตนะ ได้เป็นพระรัตนตรัยมีองค์สามพอดี เหตุการณ์ที่ว่านั้นคือการแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระสูตรแห่งการเคลื่อนกงล้อแห่งธรรม เป็นการประกาศอริยสัจสี่อันทรงตรัสรู้ได้เป็นครั้งแรก

             ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นพระสูตรที่โบราณาจารย์ได้เรียบเรียงขึ้นจากเรื่องราวการแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ทั้งห้าคนนี้เคยปฏิบัติรับใช้เจ้าชายสิทธัตถะขณะทรมานร่างกาย แต่พอพระองค์เลิกทรมาน คนเหล่านี้ก็มิพอใจ หลีกไปอาศัยที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี กระทั่งเจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ตระหนักว่าในโลกนี้ยังมีคนที่พอจะเข้าใจธรรมะอันทรงตรัสรู้ และยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือพวกปัญจวัคคีย์นั่นเอง พระองค์ทรงเดินเท้าไปหลายกิโลเมตรจากอุรุเวลาเสนานิคม (พุทธคยา) สู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ชานเมืองพาราณสี เพื่อไปพบกับปัญจวัคคีย์ เมื่อทรงไปถึง แม้ปัญจวัคคีย์จะตกลงกันบอยคอตพระองค์ แต่พอเสด็จมาจริง ๆ ก็ลืมกันหมด ต่างพากันบริการปรนนิบัติพระองค์อย่างดี หลังจากนั้นเองพระองค์ได้ยืนยันการตรัสรู้ และนำไปสู่การแสดงพระสูตรครั้งแรก

           พระองค์เริ่มแสดงถึงทางสุดโต่งสองทาง คือ ตึงไป กับหย่อนไป ทางสองทางนี้มิใช่หนทางแห่งความหลุดพ้น ความหลุดพ้นที่แท้นั้นได้มาจากทางสายกลาง คือปฏิบัติให้เหมาะสม ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป

            ความจริงในโลกนี้ คือ มีทุกข์มากมายหลายสิ่ง ทุกข์ก็เพราะมีสาเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ซึ่งควรจะต้องละให้หมดไป การดับทุกข์ (นิโรธ) เป็นสิ่งที่ทำได้จริง โดยใช้หนทางอันประเสริฐ (มรรค)

             ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าฟังอย่างตั้งใจ และโกณฑัญญะเองก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ได้พบว่านี่แหละคือสิ่งที่ตามหา บัดนี้มหาบุรุษได้ถึงที่มหาศาสดาดังที่ตนเองทำนายไว้เมื่อ 35 ปีที่แล้ว! พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ ซ้ำถึงสองครั้ง

            พระสูตรบรรยายว่า การแสดงธรรมครั้งนี้เป็นที่ลือลั่นไปทั่วโลกธาตุ เทวดาทั้งหลายต่างบอกกล่าวต่อ ๆ กันไปว่าบัดนี้กงล้อแห่งธรรมได้หมุนแล้ว เป็นที่ยินดีแซ่ซ้องสาธุการยิ่งนัก

            ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าตัดสินใจขอบรรพชา เป็นพระสาวกชุดแรกในพุทธศาสนา พระองค์ก็ประทานบรรพชาให้ บัดนั้นเองที่พระสังฆรัตนะได้ปรากฏขึ้น กองทัพธรรมของพระองค์สมบูรณ์แล้ว และพร้อมจะเดินหน้าประกาศธรรมเพื่อให้ผู้คนทั้งหลายได้พ้นทุกข์ ให้ถึงสุขอันเกษมอย่างแท้จริง

           พระสงฆ์ที่วัดไผ่ล้อม นครปฐมนี้ เรียกได้ว่าสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตรอยู่เสมอ เพราะถือว่าเป็นพระสูตรแรกในพระพุทธศาสนา เป็นพระสูตรที่อธิบายหลักการสูงสุดของพุทธศาสนา ฉะนั้นอย่างน้อยมาเป็นพระ อยู่วัดไผ่ล้อม ควรสวดได้ สวดเป็น และรู้ความหมาย

            ฉะนั้นวันนี้ วันเพ็ญเดือน 8 จึงเป็นวันสำคัญยิ่ง เป็นวันกำเนิดพระสงฆ์ ก็นับเป็นโอกาสอันดีที่จะจัดพิธีอุปสมบทในวันนี้ และต่อเนื่องจากวันอาสาฬหบูชา คือ วันเข้าพรรษา เป็นวันเริ่มต้นการจำพรรษาในฤดูฝนของพระภิกษุ โบราณถือกันว่า ระยะเวลาสามเดือนในพรรษานี้เป็นเวลาที่พระสงฆ์จะไม่จาริกไปไหน จะอยู่วัดเพื่อศึกษาพระธรรม ร่ำเรียนเขียนอ่าน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด เป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่วัด และแก่พุทธศาสนา สังวรอินทรีย์ มีจิตตั้งมั่นในศีลในธรรม ฝึกฝนอบรมตนเองตามพระปาติโมกข์ทั้ง 227 ข้อ

           การจัดพิธีอุปสมบทหมู่ที่วัดไผ่ล้อมนี้ อาตมาตั้งใจไว้ว่าจะปฏิบัติตามแบบโบราณ คือ ให้มีพิธีทำขวัญนาคด้วย เต็มรูปแบบ เพื่อเป็นการสมโภช อำนวยอวยพรให้แก่พ่อนาคกุลบุตรผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนา จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเน้นย้ำถึงคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณยิ่งแก่เราทั้งหลาย กว่าที่เราจะเติบโตมาจนถึงวันนี้ที่จะได้บวช ก็ด้วยพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เมื่อได้บวชแล้วก็พึงอุทิศบุญกุศลแก่ท่านเหล่านั้น ให้ท่านได้รับผลบุญเป็นที่ชื่นใจ อาตมาก็ได้ทำแล้วในเดือนนี้ มีทำขวัญนาคเบื้องหน้าองค์พระพุทธเมตตาประทานพร พ่อนาคนั่งประนมมือ รายล้อมด้วยพ่อแม่ญาติมิตรของผู้บวช บรรยากาศนี้เป็นไปอย่างน่าประทับใจ ซาบซึ้งใจ อาตมาเองก็ซาบซึ้งใจเหมือนกัน นึกถึงครั้งตัวเองบวช เห็นโยมแม่ดีใจ ปลื้มใจ วันนี้ก็เช่นเดียวกัน คงจะอารมณ์ความรู้สึกเดียวกัน

            อาตมาก็จึงเล่ามาดังนี้ ด้วยความดีใจอย่างยิ่ง เวลาอาตมาเห็นพระใหม่ อาตมาก็ดีใจว่าเราได้หน่อเนื้อพุทธบุตรใหม่ เข้ามาฝึกตนในร่มเงาพุทธศาสนา ได้เห็นพ่อแม่ ญาติมิตรของผู้บวชดีใจ ปลาบปลื้มใจ ทำให้เห็นว่าการได้อุปสมบทคือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง เป็นโอกาสที่คนหนึ่งคนจะได้ฝึกฝนอบรมตนเอง ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ทำคนให้เป็นคน จากคนดิบเป็นคนสุก จากคนธรรมดากลายเป็นบัณฑิตผู้รู้ จากที่รู้แล้วก็รู้ยิ่งขึ้นไป ขอเจริญพร

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!