อุบลราชธานี-สกนช. ศึกษาดูงานโรงผลิตเอทานอล อุบลราชธานี
อุบลราชธานี-สกนช. ศึกษาดูงานโรงผลิตเอทานอล อุบลราชธานี
ภาพ/ข่าว:อภิสิทธิ์ เสมอภาค
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จัดกิจกรรมศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสถานการณ์พลังงาน บทบาทและความเป็นมาของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอล ของบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อแนวทางการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า สกนช. ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจต่อสถานการณ์พลังงาน และบทบาทความเป็นมาของกองทุนน้ำมัน โดยที่ผ่านมากองทุนน้ำมันฯ มีบทบาทค่อนข้างมากในการเป็นเครื่องมือพยุงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศให้อยู่ระดับเหมาะสม ซึ่งถือเป็นบทบาทหลักของกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานในประเทศในยามวิกฤต
ในอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 คือ การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไป 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 เนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ยังไม่เอื้อต่อการลดการชดเชยดังกล่าว การขยายเวลาลดการชดเชยจะช่วยเป็นกลไกในการรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการสร้างส่วนต่างราคาขายปลีกจูงใจให้เกิดการใช้พลังงานชีวภาพ และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการขยายพืชผลทางเกษตรอีกด้วย
ในการลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเอทานอลของบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) นอกจากจะได้ศึกษาดูงานเกี่ยวกับธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอลแล้ว จะได้ติดตามความก้าวหน้าของธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีศักยภาพ มีความพร้อมปรับตัวรับมือกับสถานการณ์หากต้องยกเลิกการชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในที่สุด ซึ่งกลุ่มบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอลฯ เป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างโดดเด่นสามารถพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงรายใหญ่ของประเทศ มีโรงงานผลิตเอทานอลกำลังการผลิต 400,000 ลิตรต่อวัน หรือเทียบเท่ากำลังการผลิต 146 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งถือเป็นกำลังการผลิตต่อ 1 สายการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง โดย สามารถผลิตได้ทั้งเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง (Fuel Grade Alcohol) และเกรดอุตสาหกรรม (Industrial Grade Alcohol) ซึ่งปัจจุบันได้รับใบอนุญาตแบบชั่วคราวให้นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แอลกกอฮอล์ทำความสะอาดมือ
บริษัทฯ มุ่งดำเนินธุรกิจบนแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วมเพื่อความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับทุกกระบวนการตลอดวัฎจักรของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการวัตถุดิบมันสำปะหลัง โดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ที่มีคุณภาพผ่านโครงการ “อีสานล่าง 2 โมเดล” (เดิม โครงการอุบลโมเดล) ต่อมาถึงกระบวนการผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมถึงการเดินตามเป้าหมายการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด และการเพิ่มมูลค่าของเสียที่เกิดจากการผลิต ภายใต้แนวคิด Zero Waste ซึ่งเป็นการลดขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อไม่ให้เกิดของเสียออกจากกระบวนการผลิต ด้วยการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต เช่น น้ำและกากมันสำปะหลัง มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานผลิตเอทานอลและแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้หมุนเวียนในโรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต
ในส่วนของธุรกิจเอทานอลซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก นางสาวสุรียส ให้ความเห็นว่า ภาพรวมของธุรกิจเอทานอลยังมีโอกาสเติบโต เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก หากแต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในส่วนของเกรดอุตสาหกรรมซึ่งควรเปิดเสรีการใช้งานเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดการใช้งานเอทานอลไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การขยายการใช้งานไปยังอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก ยา และเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ได้มุ่งเป้าขับเคลื่อนสู่เป้าหมายดังกล่าว ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเดินหน้าความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนา รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดไอเดียหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือด้าน R&D กับ สถาบันนวัตกรรม ปตท. เพื่อนำเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงมาพัฒนาสายพันธุ์ยีสต์ทนร้อนเพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเอทานอล เป็นต้น
“ส่วนเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง ซึ่งอาจจะมีทิศทางที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคตนั้น ตนเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐยังจำเป็นต้องมีนโยบายส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานต่อไป รวมถึงควรผลักดันการใช้งานเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงไปสู่อุตสาหกรรมการบิน เพื่อเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับเครื่องบิน และอื่นๆ อันจะเป็นการหนุนปริมาณการใช้เอทานอลในประเทศให้ใกล้เคียงกับกำลังการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเอทานอลของไทย แต่ยังเป็นสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ และสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานในช่วงราคาน้ำมันผันผวน และที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเกษตรกรในการสนับสนุนสินค้าทางเกษตรในประเทศด้วย”