ประจวบคีรีขันธ์-ผู้ว่าฯ ประสานฝนหลวงเร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมอนุมัติเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ประจวบคีรีขันธ์-ผู้ว่าฯ ประสานฝนหลวงเร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมอนุมัติเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ภาพ/ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.66 ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขภัยแล้งจังหวัดประจวบฯ ประชุมเตรียมพร้อมรับมือวิกฤติภัยแล้งในทุกพื้นที่ภายในจังหวัดประจวบฯ มี นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นายอนิรุจน์ อัครพงศ์ตระกูล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม ต.หนองพลับ อ.หัวหิน, เขื่อนปราณบุรี อ.ปราณบุรี และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรชาวสวนมะม่วง อ.สามร้อยยอด ด้วย
นายเสถียร เจริญเหรียญ กล่าวว่าขณะนี้ จ.ประจวบฯ ประสบกับสถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทั้งๆที่กรมอุตุประกาศว่าเข้าหน้าฝนเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดฝนตกแต่ฝนตกลงมาน้อยมาก สภาพภัยแล้งที่เกิดขึ้นช่วงสงกรานต์ในบางพื้นที่ก็เลยมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ที่มีเหตุเหตุการณ์ภัยแล้งนี้ขึ้น ก็พยายามที่จะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหาแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้กับการประปาในพื้นที่ต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ อ.บางสะพาน อ.ทับสะแก และ อ.หัวหิน ซึ่งเราพยายามดำเนินการในหลายๆเรื่อง สำหรับในวันนี้ก็ได้มาเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน พบว่าทางฝนหลวงได้มีการดำเนินการบินขึ้นในหลายพื้นที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ประสบผลเป็นที่พอใจในระดับหนึ่ง ซึ่งจังหวัดประจวบฯ มีสภาพปัญหาหลายๆด้าน ทั้งสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ ซึ่งในสภาพอากาศนี้จะต้องดูในเรื่องของความชื้นในเรื่องของความเร็วลมซึ่งก็ได้มีการขึ้นไปปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องหลายวัน แต่ปรากฏว่าในบางครั้งความเร็วลมพัดทำให้ฝนไปตกที่อื่น อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อจำกัด เพราะ จ.ประจวบฯ เราเป็นพื้นที่ยาว ทางทิศตะวันตกก็เป็นภูเขา การที่จะทำให้ฝนตกในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำจริงๆ เป็นเรื่องยากเหมือนกัน
นอกจากในเรื่องของการปฏิบัติการทางด้านฝนหลวงในพื้นที่ขาดแคลนไม่ว่าจะเป็นท่านนายอำเภอหรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็พยายามที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม และอีกสิ่งหนึ่งคือเราใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่นที่เรียกว่า “บอม” คือไปขุดพวงตามลำน้ำแหล่งน้ำต่างๆให้ลึกลงไปประมาณ 1-2 เมตร เพื่อให้น้ำซึมขึ้นมา อย่างเช่นที่ อ.บางสะพาน ก็ได้มีการสูบจากที่สะพานวังยาวขึ้นไปที่การประปาภูมิภาค เพื่อใช้เป็นน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ก็อาศัยเครื่องมือของทางศูนย์ ปภ.เขต 4 ประจวบฯ เครื่องสูบน้ำระยะไกล สำหรับในพื้นที่เกษตรกรรม ถ้าหากมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเข้าหลักเกณฑ์ของทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็จะมีการประกาศให้ค่าชดเชยตามกฎระเบียบต่อไป และเป็นเรื่องที่น่ายินดีเรื่องหนึ่ง ในขณะนี้ทราบว่ามีแหล่งน้ำของทางเอกชนที่ปัจจุบันยังเหลืออยู่ มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้กับประชาชนในบางส่วน อันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีของชาวจังหวัดประจวบฯ เวลาเราลำบากก็จะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทางจังหวัดฯ ทางอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามอย่างยิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชน เพื่อผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง แต่อย่างไรก็ตามหวังว่าฝนอาจจะตกในช่วงไม่กี่วันนี้
“ทั้งนี้ฝากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เนื่องจากการพยากรณ์อากาศต่างๆ ว่าอาจจะประสบภัยแล้งมากยิ่งขึ้น เพราะที่คุยกับทางฝนหลวงช่วงนี้เป็นช่วงปรากฎการณ์ “ลานีญา” ขาลง จากนั้นก็จะเป็นช่วง “เอลนีโญ” ช่วงเอลนีโญนี้เป็นช่วงที่แห้งแล้งมาก เพราะฉะนั้นถ้ากรณีที่ฝนจะตกในช่วงถัดไปที่เป็นหน้าฝน อยากจะให้ประชาชนเตรียมภาชนะเตรียมแหล่งน้ำต่างๆ ถ้ามีสระน้ำในบ้าน ก็อยากจะมีการขุดลอกเพื่อรองรับปริมาณน้ำไว้ใช้ ช่วงที่จะขาดแคลนน้ำที่คาดว่าจะเป็นตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งก็ได้กำชับส่วนราชการต่างๆ ให้เร่งดำเนินการขุดลอกสระเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำ หนองน้ำต่างๆ เพื่อรองรับในส่วนนี้ อีกเรื่องคือ อยากจะรณรงค์ให้กับสถานประกอบการต่างๆ รวมทั้งพี่น้องประชาชนให้เราใช้น้ำกันอย่างประหยัด ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นครับ
ด้าน นายอนิรุจน์ อัครพงศ์ตระกูล กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าวิกฤตจริงๆ โดยเฉพาะระดับน้ำเขื่อนปราณบุรี ปริมาณน้ำมีแค่ 14-15 % ในส่วนของปฏิบัติการเราพยายามเร่งที่จะเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อน เข้าใจว่าในบางพื้นที่ที่อยู่ในที่เขตชลประทานของเขื่อนปราณบุรีเกิดวิกฤตในช่วงของท้ายน้ำ ก่อนหน้านี้เรามีการประชุมในส่วนของพื้นที่ขอรับบริการน้ำจากเขื่อนปราณบุรี เกษตรกรที่อยู่ท้ายน้ำก็เกิดปัญหาเหมือนกัน เขาแจ้งมาว่าน้ำมาไม่ถึง น้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนปราณบุรีค่อนข้างน้อย ทำให้การสูบน้ำมีความเค็มของน้ำ ทำให้ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก เพราะฉะนั้นทางส่วนของศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงหัวหินก็จะเร่งในการเติมน้ำเขื่อนให้มาก เพราะว่าเข้าใจในพื้นที่มีความต้องการน้ำเพื่อเพาะปลูกการเกษตรจริงๆ และพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่นอกเขตด้วย เราพยายามทำเต็มศักยภาพของเรา ยืนยันได้เลยว่าในส่วนของการบริการฝนหลวงหัวหินยังทำอย่างต่อเนื่อง และจะเร่งให้ในทุกๆ ส่วนของภาคเกษตร และการเติมน้ำเขื่อนด้วย
ขณะที่ ศูนย์ ปภ.เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ จัดส่งรถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล พร้อมเจ้าหน้าที่ เข้าทำการติดตั้งเครื่องสูบส่ง เพื่อสูบน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของ อบต.กำเนิดนพคุณ (จุดที่ 1) หมู่ที่ 6 บ.ดอนทอง ต.กำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน เนื่องจากน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอและลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค มีแผนสูบน้ำ 10 วัน คาดว่าจะมีน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง 1 เดือน
ทั้งนี้ จ.ประจวบฯ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีจุกเฉิน กรณีภัยแล้ง ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.หัวหิน และ อ.บางสะพาน รวม 8 ตำบล 80 หมู่บ้าน/ชุมชน 13,777 ครัวเรือน ประชาชน 33,110 คน ด้านการเกษตร พืชไร่ พืชผัก พืชสวน จำนวน 5,559 ไร่ อยู่ระหว่างการขอประกาศฯเพิ่มในพื้นที่อำเภอหัวหิน ที่ตำบลบึงนคร 12 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน (อุปโภคบริโภค) 2,400 ครัวเรือน 5,068 และอำเภอบางสะพาน ขาดแคลนน้ำการเกษตร 3 ตำบล คือ 1.ตำบลกำเนิดนพคุณ 2 หมู่บ้าน (หมู่ที่3,4) 2.ตำบลธงชัย 7 หมู่บ้าน 3 ตำบลชัยเกษม 8 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 65 ครัวเรือน 197 คน พื้นที่การเกษตร รวม277 ไร่ (พืชไร่ 9 ไร่ พืชสวน 253 ไร่ ไม้ยืนต้น 15 ไร่) มูลค่าความเสียหายและผลกระทบ อยู่ระหว่างประเมิน ขณะที่การประชุมล่าสุด (6 มิ.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดฯ โดยมี ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ เป็นประธาน ในที่ประชุมมีมติอนุมัติเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 66 เป็นต้นมา ในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 176 ราย วงเงินช่วยเหลือ 1,316,546 บาท.