กาญจนบุรี-สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ให้คำแนะนำประชาชนป้องกันโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูฝน
กาญจนบุรี-สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ให้คำแนะนำประชาชนป้องกันโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูฝน
ภาพ/ข่าว:ต๊ะ เมืองกาญจน์
นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี แนะประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรงป้องกันตนเองจากโรคและภัยสุขภาพที่พบในบ่อยในช่วงฤดูฝน โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2566 ขอให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้จากโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ โรคมือ เท้า ปาก โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู รวมทั้งโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา โรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งภัยสุขภาพต่างๆ ได้แก่ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า อันตรายจากการกินเห็ดพิษ และอันตรายจากการถูกงูพิษหรือสัตว์มีพิษกัด
สำหรับข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาของจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่เดือนมกราคม – 15 มิถุนายน 2566 พบสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงมากที่สุด รองลงมาคือปอดบวม ไข้ไม่ทราบสาเหตุ อาหารเป็นพิษและไข้หวัดใหญ่ ตามลำดับ (จำนวนป่วย 6395, 1569, 1415, 387 และ 287 ตามลำดับ) สำหรับโรคที่มียุงเป็นพาหะที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวน 173 ราย (อัตราป่วย 20.14 ต่อประชากรแสนคน) ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ขอแนะนำประชาชนให้ป้องกันโรคที่มักเกิดในฤดูฝน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในช่วงนี้ ดังนี้
กลุ่มโรคติดต่อทางระบบหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ในทุกอายุ พบป่วยมากในเด็กเล็ก ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คำแนะนำการป้องกันโรค โดย กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ แต่หากป่วยแล้วต้องปฏิบัติ 4 พฤติกรรมสำคัญ คือ ใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม-ล้างมือบ่อยๆ -เลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วย -ควรหยุดงาน หยุดโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และป้องกันโรคแทรกซ้อนคือปอดบวม
กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ มาลาเรีย ไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ทั้งหมดป้องกันโดยไม่ให้ถูกยุงกัด ขจัดลูกน้ำ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 5 ส 3 เก็บ คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ ใช้ยาทากันยุงหรือนอนในมุ้ง เป็นต้น
กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม หรือจากแมลงวันที่เป็นพาหะนำโรค ป้องกันด้วยการรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม อาหารค้างมื้อ ควรอุ่นให้ร้อนจัดก่อนรับประทาน หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ ดื่มน้ำสะอาด และฉีดวัคซีนป้องกันโรค
กลุ่มโรคติดต่ออื่นๆ เช่น โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก มักระบาดในช่วงหน้าฝนหรือช่วงเปิดเทอม ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง พบประปรายตลอดทั้งปี แต่พบมากตั้งแต่ฤดูฝนถึงฤดูหนาว ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรงและทางอ้อม เช่น ผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดูเด็ก โรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรหมั่นทำความสะอาดของเล่นและดูแลสิ่งแวดล้อมให้สะอาด สอนเด็กให้ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ หากมีเด็กป่วยให้หยุด 1 สัปดาห์เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หากป่วยหลายรายควรพิจารณาปิดชั้นเรียน ถ้าระบาดในหลายชั้นเรียนควรปิดโรคเรียนทำความสะอาดเพื่อหยุดการระบาดของโรค
สำหรับภัยสุขภาพในช่วงฤดูฝน ได้แก่ อันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษ ไม่ควรรับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ควรจัดบ้านให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์มีพิษ ระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้ ส่วนภัยจากฟ้าผ่าและอุบัติเหตุทางถนน เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนอง ให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์มือถือได้ ขับรถด้วยความระมัดระวังเนื่องจากฝนตกอาจทำให้ถนนลื่น และทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี ผู้ใช้รถใช้ถนนจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ร่วมทาง