ปทุมธานี-เอกชนค้านพรก.นิรโทษกรรมผู้จัดหาวัคซีนโควิด
ภาพ/ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา
ปทุมธานีเอกชนค้านพรก.นิรโทษกรรมผู้จัดหาวัคซีนโควิด อาจขัดรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับใช้
ที่ 10 สค. 64 นายธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์ ประธานเครือข่ายเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ได้ให้ความเห็นกรณีการออก พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พ.ศ. … ว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 51 “การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชน และชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยว เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” และมาตรา 55 “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มี ประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคและส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่งต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรคการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย
รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการได้รับการรักษาและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีข้อยกเว้นในโรคระบาด และยังให้สิทธิ์ประชาชนติดตามเร่งรัด และฟ้องร้องหน่วยงานรัฐเพื่อจัดให้ประชาชนได้รับประโยชน์ในหลักเกณฑ์ และวิธีที่กฎหมายบัญญัติ โดยเฉพาะใน”บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีส่วนในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมไปถึงยารักษาโรคและวัคซีน” นั้นเมื่อทางรัฐบาลมีเจตนาที่บริสุทธิ์ในการจัดซื้อวัคซีน มีการกระจายความเสี่ยง คำนึงถึงระยะเวลาในการจัดหาวัคซีน และมาตรการที่รัดกุมในการจัดการโรคระบาดแล้ว ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ รัฐบาลไม่ต้องกังวลในสิ่งที่กระทำลงไปแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบ และอาจทำให้เกิดข้อครหาว่าการตัดสินใจที่ผ่านมาอาจเป็นความผิดได้ เพราะถ้าไม่ผิดก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรมแต่อย่างใด ผู้ที่ฟ้องในส่วนของผู้จัดหาวัคซีนโดยปราศจากข้อเท็จจริงอาจตกเป็นผู้แจ้งความเท็จแทนได้ กฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวถึงออกมาก็อาจขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 51 และมาตรา 55
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความมั่นใจและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดและทรัพยากรที่มีจำกัด ให้ปฏิบัติงานได้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลถูกฟ้องร้องนั้น นั้นไม่สมเหตุสมผลเพราะถึงแม้จะไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม บุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ทำงานอย่างเต็มที่ในเงื่อนไขจำกัด เช่น การจับฉลากเพื่อให้ได้ฉีดไฟเซอร์ก่อน การขาดแคลนถังออกซิเจน เป็นต้น และไม่ผิดกฎหมายตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทั้งไม่ใช่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเมิดต่อผู้ป่วย ประชาชนชาวไทย ซึ่งตามหลักธรรมาภิบาลหน่วยงานรัฐต้องเสียสละพร้อมที่ถูกตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรม เพื่อความโปร่งใส ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลโดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ทำสิ่งผิด มีความสง่างามสมเป็นชายชาติทหารย่อมมิใช่กุลสตรี หรือมีความต้องการเอาเสื้อกราวน์หมอมาคลุมให้พ้นความรับผิดแต่อย่างใด ที่ผ่านมารัฐบาลทำงานอย่างหนักเป็นผู้เสียสละ และต้องการความโปร่งใสต่อต้านการคอรัปชั่นย่อมไม่มีวันทุจริตและหักหลังประชาชน
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/