กาญจนบุรี-นายอำเภอเลาขวัญเรียกประชุมส่วนราชการเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง

กาญจนบุรี-นายอำเภอเลาขวัญเรียกประชุมส่วนราชการเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง

ภาพ/ข่าว:รักษพล พุ่มพฤกษ์

         นายอำเภอเลาขวัญเรียกประชุมส่วนราชการเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง

           วันที่18 พฤศจิกายน 2562 ว่าที่ร้อยเอก อานนท์ เชื้อเล็ก นายอำเภอเลาขวัญ เป็นประธานการประชุมเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อำเภอเลาขวัญ โดยมีผู้แทนส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานชลประทานที่ 13 ชลประทานจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ฝ่ายทหาร ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเลาขวัญ หัวหน้าส่วนราชการ ปลัดอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเทียน ร่วมกันปรึกษาหารือแนวทางการรับสถานการณ์ภัยแล้ง เสนอข้อมูลแผนงาน/โครงการขุดลอกแหล่งน้ำ บ่อบาดาล และให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ณ ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอเลาขวัญ ชั้น 2 อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีสาระการประชุมที่สำคัญ ได้แก่
– ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาอำเภอเลาขวัญได้เกิดภาวะฝนแล้ง ปัจจุบันแหล่งน้ำสำคัญ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน มีปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคสาขาเลาขวัญ ได้ประมาณ 800,000 ลูกบาศก์เมตร คาดว่าใช้ผลิตน้ำประปาได้ถึงประมาณเดือนพฤษภาคม 2563
– ปัจจุบันเข้าสู่ฤดูหนาวเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและน้ำอุปโภคบริโภค สระน้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ทั้ง 7 ตำบล 90 หมู่บ้าน แห้งขอดไม่มีน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร สระน้ำไม่มีน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน บางหมู่บ้านมีน้ำเหลือน้อยมาก ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำผิวดิน บ่อบาดาล เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน และสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำอื่นๆ ของประชาชน/ภาคเอกชนในแต่ละพื้นที่ และประสานขอใช้น้ำไว้ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง
– อำเภอเลาขวัญจะได้รายงานจังหวัดกาญจนบุรี ขอเปิดสถานการณ์ภัยแล้งและเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีภัยแล้ง เพื่อจะได้พิจารณาใช้งบประมาณทางราชการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยภิบัติตามระเบียบของทางราชการได้
ทั้งนี้อำเภอเลาขวัญ ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ดังนี้
1. ขอความร่วมมือบริหารจัดการใช้น้ำในครัวเรือนอย่างประหยัดและคุ้มค่า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายค่าใช้น้ำ (ใช้น้ำน้อย จ่ายค่าน้ำน้อย) และยืดระยะเวลาการมีน้ำไปผลิตน้ำประปาได้นานขึ้น
2. ทุกครัวเรือนเตรียมภาชนะเก็บน้ำสำรอง สำหรับใว้ใช้ในช่วงน้ำประปาไหลอ่อนไหลช้า ซึ่งมักจะเกิดในช่วงเวลาเช้า-เย็นของทุกวัน
3. รณรงค์ช่วยกันเก็บน้ำฝนในรูปแบบธนาคารน้ำใต้ดิน ทั้งระบบปิดและระบบเปิด เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนให้อยู่ในพื้นที่ให้มากที่สุด เป็นการช่วยในมีน้ำเก็บไว้ในดิน เพื่อความชุ่มชื้นและช่วยให้ยังมีน้ำใต้ดินเป็นน้ำบาดาลไว้ใช้อย่างต่อเนื่องในฤดูแล้ง
4. ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ ด้วยการปลูกต้นไม้ในโอกาสต่างๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ลดภาวะโลกร้อน และหากพบเบาะแสการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ป่าไม้ เพื่อตรวจปราบปรามตามกฎหมายต่อไป

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!