ประจวบคีรีขันธ์-ธกส. ส่งเสริมเกษตรกรยึดหลักโครงการ”ครึ่งไร่ คลายจน”
ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
วันที่ 30 สิงหาคม 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์เรียนรู้ โครงการ”ครึ่งไร่ คลายจน ” ณ ชุมชนอุดมสุขบ้านหนองกระเพรา หมู่ 11 ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำเจ้าหน้าที่ทีมงานพัฒนาลูกค้า และวิทยากรผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ โครงการ”ครึ่งไร่ คลายจน”ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้าส่งเสริมเกษตรกรลูกค้าในการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตยึดหลักโครงการ “ครึ่งไร่ คลายจน “ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้หัวข้อ “ครึ่งไร่ คลายจน “ทำอย่างไรเราจะอยู่รอด โดยมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมรับการอบรมกว่า 50 คน
โดยภายในกิจกรรมได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ การเพาะเลี้ยงไข่น้ำ หรือไข่ผำ การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด การทำเชื้อไตรโคเดอร์มา การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในการผลิตระบบน้ำอัตโนมัติด้วยโซล่าเซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) การแจกเมล็ดพันธุ์พืช รวมไปถึงการชมวีดีทัศน์ สาธิตรูปแบบโครงการ “ครึ่งไร่ คลายจน” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร นายอำเภอบางสะพานน้อย ในสมัยนั้นได้เป็นผู้ริเริ่มโครงการ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนนำไปต่อยอดในการดำเนินชีวิต
นางปาณิสรา ผิวนวล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า โครงการ”ครึ่งไร่ คลายจน” ธนาคาร ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2565 มีจำนวนเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส.ภาคตะวันตก เข้าร่วมโครงการจำนวน 680 ราย แบ่งเป็น ประจวบคีรีขันธ์ 111 ราย เพชรบุรี 81 ราย สุพรรณบุรี 132 ราย นครปฐม 91 รายราชบุรี 91 ราย กาญจนบุรี 122 ราย สมุทรสาคร 31 ราย และสมุทรสงคราม 21 ราย โดย ธ.ก.ส.ได้นำมาต่อยอดจากนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร อดีตนายอำเภอบางสะพานน้อย ซึ่งโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพของเกษตรกรลูกค้า ให้สอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้สามารถสร้างรายได้ลดค่าใช้จ่ายปลูกผักกินเอง และเพิ่มเติมการปลูกต้นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ยางนา พยูง ในบริเวณรอบแปลงของโครงการ เพื่อสร้างการออมในรูปแบบของการปลูกต้นไม้ เป็นต้น
นางปาณิสรา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรลูกค้ามักปลูกพืชเชิงเดี่ยว เวลาประสบปัญหาขาดทุนก็จะทำให้ครอบครัวไม่มีเงินทุนในการดำเนินชีวิต และไม่มีเบี้ยที่จะจ่ายคืนให้กับ ธ.ก.ส. หรือ หนี้ค้างชำระ แต่ถ้าหากเกษตรกรยึดหลักโครงการ”ครึ่งไร่ คลายจน” ปลูกพืชผสมผสาน เน้นปลูกเอง ผลิตเอง และกินเอง เป็นอันดับแรก เมื่อเหลือแล้วจึงนำผลผลิตที่เหลือไปขายสร้างรายได้ จะทำให้ชีวิตครอบครัวของเกษตรกรมีความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งถ้าหากลูกค้าเกษตรกร ประสบปัญหาขาดทุนกับการปลูกพืชอาชีพหลัก แต่ก็ยังมีอาชีพเสริมอื่นๆเป็นตัวค้ำจุน ให้ครอบครัวสามารถดำเนินชีวิต ต่อไปได้ โดยที่ไม่ทำให้เดือดร้อนมากนัก นางปาณิสรา กล่าว