ประจวบคีรีขันธ์-อภิปราย กรณีปชช. 2 อำเภอค้านการจัดตั้งวนอุทยานแห่งชาติ(อ่าวสยาม)

ประจวบคีรีขันธ์-อภิปราย กรณีปชช. 2 อำเภอค้านการจัดตั้งวนอุทยานแห่งชาติ(อ่าวสยาม)

ภาพ/ข่าว:พิสิษฐ์ รื่นเกษม

          เมื่อช่วงสาย วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่อาคารรัฐสภา นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.เขต3 จ.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการอภิปรายปรึกษาหารือผ่านไปยังกรมอุทยานฯ ถึงกรณีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม(เตรียมการ) ในพื้นที่อำเภอบางสะพาน และ อำเภอบางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายประมวล กล่าวว่า ขอปรึกษาหารือปัญหาของประชาชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย เพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม แต่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ตำบลแม่รำพึง ตำบลกำเนิดนพคุณ ตำบลพงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน ได้คัดค้านการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม โดยยื่นหนังสือคัดค้านถึงศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ผ่านนายเลิศยศ แย้มพราย นายอำเภอบางสะพาน เนื่องจากประชาชนเห็นว่าหากมีการตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชนที่ประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำ เกษตรกรรม และธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งโรงแรม และรีสอร์ทในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเป็นพื้นที่ป่าสงวนที่อยู่ในเขตเมือง หากมีการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ก็จะส่งผลต่อการประกอบอาชีพของประชาชน ตนจึงเห็นว่า กรมอุทยานฯ ควรยกเลิกกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวโดยเร็ว
          นายวิเชียร เกตุงาม กำนันตำบลกำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีข้นธ์ ในฐานะรองประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.บางสะพาน ได้เปิดเผยว่า “จากการพูดคุยกันในกลุ่มผู้นำในพื้นที่อำเภอบางสะพาน ถึงกรณีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ซึ่งได้ข้อสรุปตรงกัน ว่าทางกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอบางสะพาน ไม่เห็นด้วยกับการประกาศจัดตั้งอุทยานเเห่งชาติอ่าวสยาม เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับบริบททางสังคมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ที่มีทั้งภาคการเกษตรกรรม ภาคการประมง และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับในแนวเขตที่จะประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานฯ ซึ่งตนเคยยื่นเรื่องคัดค้านการจัดตั้งเป็นอุทยานเเห่งชาติอ่าวสยาม ที่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อตอนปี 2562 ผ่านนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯในขณะนั้น และเได้มีหนังสือตอบกลับว่าทางกรมฯให้มีการชะลอการประกาศออกไปก่อน และขอให้มีการประชาคมรับฟังความคิดเห็นใหม่ทุกตำบลทั้ง 7 ตำบลในอำเภอบางสะพาน ทางชมรมฯจึงอยากเรียกร้องให้ทางกรมอุทยานฯ พิจารณาถอยกลับไปเป็นวนอุทยานป่ากลางอ่าว วนอุทยานแม่รำพึง ตามเดิม
          ด้านนายเอกฤทธิ์ ดวงมาลา หัวหน้า อุทยานเห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) เปิดเผยว่า หลังจากมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที้เกี่ยวข้องและประชาชนในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อจากนี้ทางอุทยานฯจะทำหนังสือสรุปข้อคิดเห็นที่ได้จากเวทีฯ นำส่งไปย้งกรมอุทยานฯโดยมีกรอบเวลา 30 วัน จากนั้นจะทำการปิดประกาศ ในพื้นที่อีก 15 วัน ก่อนที่จะส่งรายงานผลให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยในส่วนของข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่ ในบางประเด็น อาทิ ในส่วนของเรื่องการทำประมงพื้นบ้านที่มีความกังวลว่าหากประกาศเป็นอุทยานแล้วจะกระทบกับการประกอบอาชีพ ขอทำความเข้าใจว่า แนวเขตในแผนที่แนบท้ายได้มีการปรับให้มีความเหมาะสมและไม่กระทบกับการทำประมงโดยแนวเขตของอุทยานฯในส่วนที่อยู่ในทะเลจะมีแค่พื้นที่ ในระยะรัศมี 300 เมตรรอบเกาะทะลุ และเกาะสิงห์เกาะสังข์เท่านั้น ซึ่งได้มีการสำรวจแล้วแนวเขตดังกล่าวไม่กระทบต่อการทำประมงและจะใช้หลักการพูดคุยกันเมื่อพบความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย แทนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ขณะที่บางส่วนอยากให้กลับไปเป็น วนอุทยานฯ ตามเดิมซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องเริ่มขั้นตอนนับ 1 ใหม่ตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ รับฟังความคิดเห็น เพราะขณะนี้วนอุทยานป่ากลางอ่าว และ วนอุทยานแม่รำพึงถูกปรับสถานะเป็น อุทยานเเห่งชาติอ่าวสยาม(เตรียมการ)แล้ว และในส่วนข้อกฎหมายที่เกรงว่าจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ขอยืนยันว่า ทั้ง วนอุทยาน และ อุทยาน ใช้ข้อกำหนดกฎหมายเดียวกัน แต่การปรับสถานะเป็นอุทยานฯ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่มากกว่า ทั้งในเรื่องของงบประมาณในการจัดการ การท่องเที่ยวที่จะเข้ามา และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป ส่วนพื้นที่ของอุทยานฯเดิมมีการสำรวจพื้นที่ไว้ 20,047 ไร่ เพื่อทำสำรวจ ซึ่งภายหลังจากการสำรวจมีการปรับพื้นที่เพื่อลดผลกระทบกับประมงพื้นบ้านได้ข้อสรุปในเรื่องพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานฯในแผนที่แนบท้าย ทั้งสิ้น 8,021 ไร่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและไม่กระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!