ศรีสะเกษ-อยู่บ้านหยุดเชื้อโควิด-19 ปั้นพระขายรายได้เดือนละร่วม 30,000 บาท

ศรีสะเกษ-อยู่บ้านหยุดเชื้อโควิด-19 ปั้นพระขายรายได้เดือนละร่วม 30,000 บาท

ภาพ / ข่าว:ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ

        อยู่บ้านหยุดเชื้อโควิด-19 ปั้นพระขายรายได้เดือนละร่วม 30,000 บาท สายบุญทั่วประเทศแห่มาสั่งปั้นพระเกจิอาจารย์ขณะที่หลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนายอดสั่งปั้นมากที่สุด

         เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองทุนศิลปะช้างเผือก ตั้งอยู่เลขที่ 111 หมู่ 5 บ้านศิวาลัย ถ.ขุนหาญ – สำโรงเกียรติ ต.สิ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านของนายพงษ์ศักดิ์ อดิพัฒน์ตระกูล หรืออาจารย์แฉ่ง มีอาชีพรับปั้นพระทุกอย่าง ภายในบ้านมีรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ที่ปั้นเสร็จแล้วหลายองค์รอผู้ที่สั่งทำมารับพระเพื่อนำเอาไปประดิษฐานตามวัดวาอารามต่าง ๆ และมีเศียรพระเบ้าหล่อพระรวมทั้งอุปกรณ์ในการปั้นพระจำนวนมากวางอยู่ในบ้าน ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์กำลังทำการปั้นเศียรพระพุทธรูป ซึ่งต้องใช้สมาธิและมีความประณีตบรรจงในแต่ละขั้นตอนของการปั้นเศียรพระเป็นอย่างมาก เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและฝีมือทั้งหมดที่มีลงในชิ้นงานที่ทำ เพื่อให้ชิ้นงานที่ได้ออกมามีความสวยงาม โดยเศียรพระเป็นจุดที่สำคัญมากทำให้รู้ว่าพระที่ปั้นออกมานั้นเป็นพระอะไร หรือว่าเป็นเกจิอาจารย์องค์ใดตามที่มีสายบุญมาสั่งให้ปั้นขึ้นมา ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 นายพงษ์ศักดิ์จะไม่ไปไหน จะทำงานอยู่บ้านทำการปั้นพระอย่างต่อเนื่องทุกวัน

        นายพงษ์ศักดิ์ อดิพัฒน์ตระกูล หรืออาจารย์แฉ่ง เล่าว่า ตนเรียนจบระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยครูพระนคร ปริญญาตรีด้านอุตสาหกรรมศิลป์เครื่องปั้นดินเผา จบแล้วได้ไปเป็นที่ปรึกษาโรงงานอุตสาหกรรมด้านเครื่องปั้นดินเผาที่ภาคเหนืออยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นได้ไปทำธุรกิจเกี่ยวกับอิฐมอญ ต่อมาได้ไปบวชอยู่ประมาณ 3 พรรษา และปี 2555 ได้ลาสิกขาบทออกมาทำธุรกิจโรงแรม แต่ต่อมาเห็นว่า เวลาที่เรามีชีวิตอยู่เหลือน้อยแล้วน่าจะช่วยคืนคุณแผ่นดินช่วยกันสร้างที่เรียกว่าพุทธบูชาเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ศาสนาพุทธได้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป ก็ได้มาทำเกี่ยวกับการปั้นพระโดยตรง ซึ่งเหตุที่มาทำงานด้านนี้ก็เนื่องจากว่ามีวัดวาอารามต่างๆมาสนับสนุนให้ทำงานด้านนี้ก็เลยช่วยกัน เลยได้มาสร้างงานตรงนี้เหมือนกับว่าให้มาร่วมกันสร้างพุทธบูชาในพระพุทธศาสนา งานที่ปั้นส่วนมากจะเป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ รูปปั้นเกจิอาจารย์และครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่มรณภาพไปแล้ว ตามแต่สายบุญจะสั่งให้ปั้นส่วนมากจะเป็นขนาดหน้าตักกว้าง 16 นิ้วขึ้นไป ซึ่งพระที่ปั้นขนาดใหญ่ที่สุดจะเป็นขนาด 108 เซนติเมตร หรือประมาณ 43 นิ้วเพราะว่าเป็นงานเกี่ยวกับปูนซิเมนต์จึงไม่ได้ใช้คนมาก

         นายพงษ์ศักดิ์ อดิพัฒน์ตระกูล หรืออาจารย์แฉ่ง เล่าต่อไปว่า ขั้นตอนของการปั้นเริ่มแรกจะปั้นด้วยดินก่อนแล้วก็มาหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ จากนั้นนำมาตกแต่งทำพิมพ์เป็นซิเมนต์ เพราะงานด้านนี้ที่ส่งเสริมกันก็คือพระโลหะ แต่ว่าจะมีคนขโมยไปใช้ส่วนตัวมากกว่าจึงได้ทำพระเป็นปูนซีเมนต์ เพราะว่าบุคคลทั่วไปคิดว่ามูลค่าทางโลกมันไม่แพงมาก จึงนิยมตั้งพระที่ปั้นไว้ได้นานจนจะสิ้นอายุขัยของปูนซีเมนต์ซึ่งหากอยู่ในที่ร่มก็จะมีอายุประมาณ 50 ปีแต่ถ้าอยู่กลางแดดเต็มที่ก็ประมาณ 100 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้นอีก ส่วนในด้านค่าจ้างนั้น ถ้าปั้นให้แล้วสายบุญนำเอาไปประดิษฐานเองราคาประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป แต่ถ้าให้ตนนำเอาองค์พระไปช่วยติดตั้งให้ราคาประมาณ 20,000 ขึ้นไปก็แล้วแต่ญาติโยมเขาศรัทธา นายพงษ์ศักดิ์ อดิพัฒน์ตระกูล หรืออาจารย์แฉ่ง เล่าด้วยว่า พระที่ปั้นส่วนมากจะเป็นรูปปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนาและหลายปางตามแต่จะมีคนสั่ง ส่วนที่คนนิยมมากมาจ้างให้ปั้นเพื่อนำเอาไปเช่าบูชามากที่สุดในขณะนี้คือหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา หน้าตักประมาณ 16 นิ้ว ราคาองค์ละประมาณ 2,000 บาทขึ้นไป วัสดุที่ใช้ในการหล่อพระนั้นจะใช้เหล็กและปูนซิเมนต์ ไม่เน้นไฟเบอร์กลาสและเรซินจะไม่ใช้ เพราะว่าหากใช้วัสดุดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของช่างที่ทำ ซึ่งการใช้ปูนปั้นจะมีการทำแบบโบราณคือนำเอาของศักดิ์สิทธิ์ใส่เข้าไปในองค์พระเหมือนกับที่คนโบราณสร้างพระที่จะบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ตั้งแต่ฐานพระขึ้นไป เช่นผ้ายันต์และวันเดือนปีเกิด เพราะเขาเชื่อว่าคนที่สั่งทำพระ หากนำเอาวันเดือนปีเกิดใส่เข้าไปแล้วจะทำให้เจริญรุ่งเรือง เพราะไปอยู่ใต้ฐานพระและพระพุทธเจ้าเป็นคนนั่งทับไว้ จึงคิดว่าพระพุทธเจ้าปกป้องคุ้มครองสามารถทำให้เจริญรุ่งเรืองได้ตามความเชื่อแบบที่คนโบราณเชื่อมั่นกันมา ส่วนรายได้นั้น ตนจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 20,000 บาทขึ้นไป หลังจากหักค่าใช้จ่ายและใช้แบบประหยัดแล้วก็สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงที่กำลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ โดยหากสายบุญท่านใดต้องการติดต่อสั่งปั้นพระ ติดต่อได้ที่ โทร. 089-4267521, ID Line 092-8455381

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

 

 

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!