ประจวบคีรีขันธ์-จุรินทร์ อลงกรณ์ ลุยเพชรบุรี “ช่วยชาวนาเกลือ” ฝ่าโควิด19

ประจวบคีรีขันธ์-จุรินทร์ อลงกรณ์ ลุยเพชรบุรี “ช่วยชาวนาเกลือ” ฝ่าโควิด19

ภาพ/ข่าว:พิสิษฐ์ รื่นเกษม

จุรินทร์-อลงกรณ์ ลุยเพชรบุรี “ช่วยชาวนาเกลือ” ฝ่าโควิด-19 บุกตลาดในประเทศ-ต่างประเทศ-แปรรูป

              วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นาย อภิชาติ สุภาแพ่ง ทปษ. รมช.พาณิชย์ นายอรรถพร พลบุตร คณะทปษ.รมช.สธ. นายกัมพล สุภาแพ่ง คณะทปษ.รมช.พณ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตร และพบปะเกษตรกรชาวนาเกลือ ณ ตลาดกลางเกษตรหนองบ้วย อําเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ภายหลังการตรวจเยี่ยมนายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่พูดถึงในวันนี้คือ”เกลือทะเล”จังหวัดที่ทำนาเกลือเยอะที่สุดคือ เพชรบุรีกับสมุทรสาคร และสมุทรสงครามบางส่วนโดยประเด็นปัญหาคือในช่วงวิกฤติโควิด-19 ราคาเกลือตกต่ำและมีเกลือนำเข้าจากอินเดียมาตีตลาดในประเทศ

             วันนี้ได้ช่วยกันเจรจาหารือกับผู้ทำนาเกลือได้ข้อสรุปว่าในเรื่องของตลาดเกลือในประเทศอาจเป็นเรื่องเฉพาะกิจจะใช้งบคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หรือ คชก.เข้ามาช่วยดูแลเฉพาะการ เช่นเดียวกับพืชเกษตรตัวอื่นที่มีปัญหาตามฤดูกาล เช่นมะนาวและมะม่วง เป็นต้น จะแก้ปัญหาระยะสั้นโดยวิธีนี้ ส่วนการหาตลาดในประเทศจะให้ทีมงานเซลล์แมนจังหวัดเป็นผู้ช่วยดำเนินการ การแก้ปัญหา ส่วนเรื่องเกลือนำเข้าจากอินเดียตนได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศออกประกาศว่า 1.ผู้นำเข้าเกลือเข้ามาในประเทศต้องขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า 2.ต้องมีเอกสารแสดงว่านำเข้าจากประเทศไหน เมืองไหนอย่างไร เพื่อควบคุมกำกับการนำเข้าโดยการนำเข้า แจ้งพิกัดชัดเจน ที่ผ่านมากรมศุลกากรมีพิกัดเดียวสำหรับเกลือจากนี้จะแยกเป็น 2 พิกัดคือ 1.เกลือบริโภคและ 2.เกลืออุตสาหกรรม ให้มีการแจ้งรายละเอียดของการนำมากระจายในประเทศ เพื่อช่วยดูแลเกษตรกรผู้ทำนาเกลือในประเทศให้ได้รับความเป็นธรรมไม่ถูกเกลือนอกเข้ามาตีตลาด โดยประกาศนี้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกากำลังพิจารณาคาดว่าจะเสร็จในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ถ้าเสร็จตามนั้นผมจะลงนามบังคับใช้ต่อไปโดยเร็ว

              ” สำหรับระยะยาวจะให้จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสาครร่วมกันแก้ปัญหาผลผลิตเกลือให้มีคุณภาพจะได้ไม่ถูกกดราคา และเรื่องการแปรรูปเข้ามาดูว่ามีแผนการกำกับอย่างไร จะเพิ่มนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าอย่างอื่นเช่น สบู่ เครื่องสำอาง และเครื่องใช้อื่นๆ รวมทั้งการช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้นาเกลือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกอันนึงของประเทศต่อไป นอกจากนี้เรื่องปัญหาหนี้สินเกษตรกรผู้ทำนาเกลือที่มีหนี้สินกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ตนในฐานะรองนายกฯกำกับดูแลอยู่ ตนได้ช่วยคลี่คลายปัญหาได้เยอะสำหรับเกษตรกรที่เป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เปิดโอกาสให้สามารถนำหนี้ที่เป็นหนี้สถาบันการเงินมาเปลี่ยนเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูได้ เพราะถ้าเปลี่ยนมาเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูและชำระกับกองทุนฟื้นฟูการดำเนินคดีจะผ่อนปรนลงและมีเงื่อนไขผ่อนปรนกว่าการเป็นหนี้กับสถาบันการเงิน ช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสชำระหนี้ได้เต็มจำนวนในอนาคต และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นหนี้ต่ำกว่า 2.5 ล้านบาทสามารถเปลี่ยนเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูได้ และผู้ที่มีหนี้เกินกว่า 2.5 ล้านบาทตนเปิดโอกาสแล้วที่จะให้เข้ามาเป็นหนี้กองทุนได้เป็นกรณีไป ชาวนาเกลือจำนวนหนึ่งเป็นหนี้เกิน 2.5 ล้านบาทเพราะตีมูลค่าที่ดินด้วยจึงทำให้มีราคาสูง ” นายจุรินทร์ กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการแก้ปัญหาราคาเกลือทะเลตกต่ำ และปัญหาผลผลิตเกลือทะเลค้างสต็อก ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม มีปริมาณเกลือคงค้างฤดูการผลิต ปี 2562/63 ปริมาณ 212,608 ตัน และ ปี 2563/64 ปริมาณ 197,000 ตัน โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือได้แก่
1) การกระจายและเชื่อมโยงสินค้าเกลือทะเลไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
2) การกระจายเกลือขาวและดอกเกลือเพื่อจำหน่ายในร้านธงฟ้า
3) โครงการกระจายเกลือทะเลค้างสต็อก ผ่านทางคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.)ใช้งบประมาณของกองทุน

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!