นครสวรรค์-ยังคงจัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งพ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก

นครสวรรค์-ยังคงจัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งพ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก

ภาพ/ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ

           อบจ.นครสวรรค์ ยังคงจัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งพ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

            พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก กรณีที่ช่วงนี้เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน นครสวรรค์เป็นจังหวัดหนึ่งที่เคยมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ทาง อบจ.นครสวรรค์จึงมอบหมาย ให้นางทัศวลี ผึ้งสีใส หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมกับ นายสันติ จันทร์เผิบ รองปลัด อบจ. นครสวรรค์ รก.ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการฉีดพ่นหมอกควันเพื่อกำจัดยุงลาย โดยตั้งแต่วันที่ 21 – 23 มิถุนายนนี้ ได้ลงพื้นที่ดังนี้
จุดที่ 1 พื้นที่เขตตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564
จุดที่ 2 พื้นที่เขตหมู่ที่ 3 ,หมู่ที่ 7,หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 19 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564
โดยเจ้าหน้าที่นำเครื่องพ่นหมอกควันออกไปฉีดพ่นเพื่อป้องกันและกำจัดยุงลาย เดินฉีดพ่นยาตามร่องระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ ตามชุมชนและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เสี่ยงตามจุดต่างๆ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไข้เลือดออก และสกัดการแพร่เชื้อไข้เลือดออก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน มีฝนตก มีน้ำขัง ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ง่าย ซึ่งในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ยุงลายสามารถวางไข่และพัฒนาเป็นลูกน้ำกลายเป็นยุงได้อย่างรวดเร็ว จึงได้เร่งพ่นควันกำจัดยุงลาย พร้อมทั้งกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น เศษภาชนะต่าง ๆ ที่มีน้ำขัง รวมทั้งกระถางต้นไม้ แจกัน ตุ่มน้ำ ภาชนะรองรับน้ำอื่น ๆ เพื่อจะช่วยลดความหนาแน่นของยุงลาย

                สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ปี 2564 ในภาพรวมทั้งประเทศ (ตั้งแต่วันที่ 6 -12 มิถุนายน 2564 ) มีรายงานผู้ป่วยสะสม จำนวน 3,908 ราย (อัตราป่วยเท่กับ 5.88 ต่อประชากรแสนคน) มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 3 ราย อัตราตาย 0.005 ต่อประชากร แสนคน อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.08 สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรกของประเทศไทย คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อัตราป่วยเท่ากับ 45.88 ต่อประซากรแสนคน) รองลงมาคือ จังหวัดระนอง (อัตราป่วยเท่ากับ 25.44 ต่อประชากรแสนคน) และจังหวัดตาก (อัตราป่วยเท่ากับ 22.87 ต่อประชากรแสนคน) สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ มีอัตราป่วยเท่ากับ 10.1 7 ต่อประชากรแสนคน (เป็นอันดับที่ 13 ของประเทศ) สำหรับอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกของจังหวัดนครสวรรค์ คือ 1.อำเภอตากฟ้า มีอัตราป่วยเท่ากับ 17.52 ต่อประชากรแสนคน 2.อำเภอเมือง มีอัตราป่วยเท่ากับ 16.38 ต่อประชากรแสนคน 3.อำเภอตาคลี มีอัตราป่วยเท่ากับ 15.90 ต่อประชากรแสนคน 4.อำเภอแม่เปิน มีอัตราป่วยเท่ากับ 13.93 ต่อประชากรแสนคน และ5.อำเภอไพศาลี มีอัตราป่วยเท่ากับ 12.74 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเรื่องนี้มีข้อมูลจากกรมควบคุมโรคว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2564 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อายุ 15-24 ปี รองลงมา อายุ 25-34 ปี โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า รวมถึงมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่พักอาศัย สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีพายุฤดูร้อนและฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรคจึงมีข้อแนะนำคือ ประชาชนให้ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากทำผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วัน ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ต้องรีบไปพบแพทย์ตรวจวินิฉัยโรคให้แน่นอน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต รวมทั้งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หากป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกร่วมด้วยจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ขอให้ยึดหลัก เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้าน และ เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะ ที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคโควิด 19 ขอให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน โดยให้เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน เพราะถ้าหากเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้จะส่งผลทำให้การรักษายุ่งยากและเสี่ยงต่อการทำให้มีอาการหนักมากยิ่งขึ้น หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคอะไรและรับการรักษาต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!