อุบลราชธานี-ผนึกกำลัง “บวร” ปิดการฝึกอบรม “โคก หนอง นา พช.”
ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน
จ.อุบลฯ ผนึกกำลัง “บวร” ปิดการฝึกอบรม “โคก หนอง นา พช.” จ.อุบลราชธานี รุ่นที่ 30 รองพ่อเมือง ชูหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
วันที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 14.30 น. ณ วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้นายเมธา รุ่งฤทัยวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดอุบลราชธานี กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล” รุ่นที่ 30 จำนวน 100 คน จากอำเภอเดชอุดม ณ วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้กล่าวรายงานสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมด้วย พัฒนาการอำเภอศรีเมืองใหม่ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ทีมวิทยากรและผู้นำชุมชนในพื้นที่ เข้าร่วมพิธีและสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้รับความเมตตาจากพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีแสงธรรม ที่อนุเคราะห์สถานที่ในการฝึกอบรมและร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอดมา ตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด ราชการ
โอกาสนี้ ประธานในพิธีฯ ได้กล่าวกับผู้ผ่านการฝึกอบรมว่า “การดำเนินโครงการที่ผ่านไปนั้น ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมหาศาล เนื่องจากเป็นการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ว่าจะต้องทำอะไรไม่ให้เกินตัว มีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน ภายใต้เงื่อนไข ความรู้เเละคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกท่านพึงมี เพราะถือว่าเป็นหลักสำคัญในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม การยึดหลักคุณธรรม หลักจริยธรรม หลักความซื่อสัตย์ จะส่งผลทำให้มีความเจริญในอาชีพ ในส่วนของการฝึกอบรมครั้งนี้ เน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดประสบการณ์จริง สามารถเป็นประโยชน์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อท่านผ่านการอบรมฯ ไปแล้ว ขอให้นำเอาความรู้ที่ได้ไปพัฒนาพื้นที่และร่วมขับเคลื่อนเป็นศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักทฤษฎีใหม่ในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งท่านต้องสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้อย่างเป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นชุมชนของท่านและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศชาติด้วย นอกจากนั้นโครงการนี้ ยังมุ่งเน้นถึงบริหารพื้นที่เเละสร้างองค์ความรู้ เพื่อทำให้เป็นแบบอย่างหรือศูนย์เรียนรู้ เกิดการลดรายจ่าย เกิดรายได้ มีการออม ทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้น เป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขอฝากให้ทุกท่านได้จัดทำบัญชีครัวเรือน เพราะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการใช้จ่ายของท่าน ทำให้ทราบว่ารายได้ท่านมาจากไหนบ้าง รายจ่ายท่านจ่ายไปในรูปแบบไหนบ้าง เป็นการวางแผนลดรายจ่าย เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง สุดท้ายนี้ ผมเชื่อมั่นว่าการฝึกอบรมในครั้งนี้ จะทำให้ทุกท่านเป็นคนดี และช่วยกันทำให้หมู่บ้านชุมชนของเราน่าอยู่ เมืองหน้าอยู่ ประเทศหน้าอยู่ ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านและขออวยพรให้ทุกท่านโชคดีและมีความสุข” ประธานในพิธีฯ กล่าวก่อนปิดการฝึกอบรม จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ให้สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ดำเนินการ 48 รุ่นๆ ละ 5 วัน กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรม 4,790 คน ประกอบด้วยครัวเรือนพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือนละ 1 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 898 คน ระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564 จุดดำเนินการ 5 แห่ง ดังนี้ 1)ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จำนวน 16 รุ่น 2)วัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 3)ศูนย์ฝึกอบรมวัดภูอานนท์ ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จำนวน 11 รุ่น 4)ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชนสารภีท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 5 รุ่น และ 5)ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จำนวน 5 รุ่น
สำหรับการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 30 ระหว่างวันที่ 22-26 มีนาคม 2564 ณ วัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ มีฐานการเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จำนวน 10 ฐาน ประกอบด้วย 1)ฐานคนมีไฟ 2)ฐานคนมีน้ำยา 3)ฐานคนเอาถ่าน 4)ฐานรักษ์แม่ธรณี 5)ฐานรักษ์แม่โพสพ 6)ฐานคนรักษ์สุขภาพ 7)ฐานคนรักษ์ดิน 8)ฐานคนรักษ์ป่า 9)ฐานคนรักษ์น้ำ และ 10)ฐานคันนาทองคำ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฝึกอบรมฯ รวมทั้งสิ้น 100 คน จากอำเภอเดชอุดม และได้รับการสนับสนุนวิทยากรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ร่วมกับวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด จนสามารถดำเนินโครงการฯ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/