เชียงใหม่-องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการหลวง
ภาพ/ข่าว:ศราวุธ เจิมจันทร์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง และ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
วันนี้ (12 มิ.ย. 63) พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวงเดินทางไปติดตามงานยังสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ปลูกเงาะที่สำคัญทางภาคเหนือ โดยชาวบ้านดั้งเดิมปลูกกาแฟ และชาเมี่ยง สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอดจึงพัฒนามาจากศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอาราบิกา มีพื้นที่รับผิดชอบกว่า 222 ครัวเรือน เป็นชาวปกาเกอะญอและคนเมือง ในด้านการดำเนินการวิจัย มีการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดของเสาวรสหวาน การวิจัยเปรียบเทียบสายพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นที่เหมาะสมกับสภาพที่สูง และยังอนุรักษ์สายพันธุ์กาแฟ ไว้ถึง 162 สายพันธ์ จึงเป็นแหล่งรวมสายพันธุ์กาแฟที่สำคัญของประเทศไทย โดยปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ผสมผสานกับพืชอื่น เช่น พริกไทย และกระวาน
นอกจากนี้โครงการหลวงแม่หลอด ยังส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP เน้นการใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกพืชในระบบของโครงการหลวง เฉลี่ยปีละ 67,000 บาทต่อคน พืชส่งเสริมสำคัญ ได้แก่ กาแฟอาราบิกา แตงกวาญี่ปุ่น มะเขือม่วงก้านดำ คะน้าฮ่องกง เสาวรสหวาน เคพกูสเบอร์รี ส้มคัมควอท ข้าวนาพันธุ์ไก่ป่า ถั่วขาว และยังมีส่งเสริมการเลี้ยงลูกสุกร โดยปัจจุบันเน้นพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์
ด้วยสภาพพื้นที่โดยรอบมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำ มีน้ำตกหมอกฟ้า และลำน้ำปิงไหลผ่าน โครงการหลวงแม่หลอดจึงเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สร้างจิตสำนึกดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ส่งเสริมการปลูกไม้ผลยืนต้นเพื่อสร้างป่าและเป็นรายได้ ส่งเสริมยุวเกษตรกรโครงการหลวง เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างเหมาะสม ปัจจุบันโครงการหลวงได้ทำการจัดระเบียบพื้นที่ โดยแยกพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรให้ชัดเจน ไม่ให้เกิดการบุกรุกเพิ่ม และส่งเสริมการทำการเกษตรโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้สารชีวภัณฑ์ การบำรุงรักษาดิน น้ำ สร้างระบบจัดการน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภค บริโภคอย่างเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่บุกรุกป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนป่าในพื้นที่โครงการหลวงทุกแห่ง
ภายหลังการประชุม องคมนตรีได้ร่วมปลูก “ต้นรวงผึ้ง” และเยี่ยมชมกิจกรรมทอผ้าของกลุ่มแม่บ้าน และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่เกษตรกรปลูกและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ตะไคร้ต้น ตะไคร้หอม ไพร หว่านสาวหลงมะแขว่น ด้วยสมุนไพรเหล่านี้มีมูลค่าต่ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลที่มีปริมาณผลิตผลมาก โครงการหลวงจึงนำพืชกลุ่มนี้ไปกลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยพยุงราคา ได้แก่ น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงและสุคนธ์บำบัด น้ำมันหอมระเหยจากมะแขว่น พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เจลอาบน้ำและสบู่ก้อน
จากนั้นในช่วงบ่ายพลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวงได้เดินทางไปยัง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ที่มีการบุกรุกเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และมีการปลูกฝิ่นอยู่บ้าง โครงการหลวงจึงได้เข้าไปส่งเสริมพัฒนาอาชีพและปัจจัยพื้นฐาน ปัจจุบันโครงการหลวงแม่สะป๊อก มีประชากรในความรับผิดชอบจำนวน 4 หมู่บ้าน 756 ครัวเรือน เป็นชาวปกาเกอะญอ และคนเมือง มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก พืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก พืชไร่ และปศุสัตว์ ภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ทั้งระบบ GAP และระบบเกษตรอินทรีย์ พื้นที่ปลูก 317 ไร่ 238 โรงเรือน ที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ ได้ส่งมอบผลผลิตให้กับโครงการหลวง มูลค่ากว่า 11 ล้านบาท ผลผลิตหลัก ได้แก่ ผักกาดฮ่องเต้ คะน้าฮ่องกง สวิทเบซิล มะระหยก เสาวรสพันธุ์ไทนุง เคพกูสเบอร์รี งาดำ บัควีท และ กาแฟอาราบิกา นอกจากนี้ชุมชนบ้านห้วยข้าวลีบ ยังได้รับรางวัลชุมชนคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ในระดับดีเยี่ยม หลังจากการประชุมยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการและผลผลิตของศูนย์รวมทั้งกิจกรรมการทอผ้าของกลุ่มแม่บ้านศูนย์ฯแม่สะป๊อก ซึ่งเป็นอาชีพนอกการเกษตรอีกด้วย
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/