กาญจนบุรี-กฟผ. Kick Off ศูนย์เรียนรู้สืบสานศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล”

กาญจนบุรี-กฟผ. Kick Off ศูนย์เรียนรู้สืบสานศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล”

ภาพ/ข่าว:ต๊ะ เมืองกาญจน์ 

            กฟผ. เปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 แห่ง ในพื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนภูมิพล และ กฟผ.แม่เมาะ สืบสานศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจ หวังฟื้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน เพื่อเตรียมรับมือวิกฤตของโลกในอนาคต

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและนายกสมาคมดินโลก เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ในการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล พร้อมด้วยนายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายอาจณรงค์ สัตยพานิช หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดร.สุทธิชัย จูประเสริฐพร รองผู้ว่าการบริหาร และผู้บริหาร กฟผ. เข้าร่วมในพิธี ณ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี พร้อมร่วมรับชมพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขื่อนภูมิพล และ กฟผ.แม่เมาะ ผ่านระบบวิดีโอคอน เฟอเรนซ์ (Video Conference) ที่ถ่ายทอดไปยัง กฟผ. ทั่วประเทศ จากนั้นเดินเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนของดีของ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่มาออกซุ้มภายในงาน รวมถึงเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเขื่อนศรีนครินทร์ และรับฟังบรรยายพิเศษหัวข้อ “Smart Transform ในมุมมองอาจารย์ยักษ์” โดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่เขื่อน และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงตลอดแนวสายส่งผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า) โดยพร้อมเปิดบริการให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่สู่การปฏิบัติจริงในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และ กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อนำความรู้ไปขยายผล สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน เตรียมรับมือวิกฤตของโลกในอนาคต

               ศูนย์ศึกษาและพัฒนา ฯ ของ กฟผ. จะเริ่มดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ประชาชนที่สนใจ เกษตรกร ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 64 เป็นต้นไป โดยวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้จากการปฏิบัติจริง หรือ “ครูพาทำ” ผ่านฐานการเรียนรู้ฐานหลักในจำนวน 7 ฐาน อาทิ ฐานคนรักษ์ป่า เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการปลูกไม้ 5 ระดับ ฐานคนรักษ์แม่ธรณี เรียนรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จากแนวคิด “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” ฐานคนรักษ์น้ำ เรียนรู้ศาสตร์การจัดการและอนุรักษ์น้ำโดยหลักธรรมชาติ อาทิ โครงการฝนหลวง การขุดคลองไส้ไก่ เครื่องดักหมอก และการบำบัดน้ำเสีย ฐานคนรักษ์แม่โพสพ เรียนรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ ดังคำที่ว่า “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง” ฐานคนรักษ์สุขภาพ เรียนรู้วิธีการมีสุขภาพที่ดีแบบวิถีพอเพียง ฐานคนมีน้ำยา เรียนรู้วิธีการทำน้ำยาเอนกประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ฐานคนเอาถ่าน เรียนรู้การทำถ่านธรรมชาติและประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้
นอกจากนี้ศูนย์ศึกษาและพัฒนา ฯ ของ กฟผ. ยังมุ่งเน้นการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในพื้นที่ โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล นำเอาเศษอาหารและมูลสัตว์มาหมักเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้แทนก๊าซหุงต้ม การติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากโซลาร์เซลล์ และการปลูกพืชพลังงาน รวมถึงการกิจกรรมให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ราชานุรักษ์ เขื่อนศรีนครินทร์ โทร. 034 574 248 ศูนย์ศึกษาและพัฒนา ฯ กฟผ. แม่เมาะ โทร. 054 252 186 และประชาสัมพันธ์เขื่อนภูมิพล โทร. 055 881 238 ทั้งนี้ กฟผ. มีแผนจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในปี 2565 เพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

 

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!