ประจวบคีรีขันธ์-รมช.เกษตรฯ สั่ง อ.ส.ค.ซื้อนมดิบวันละ 40 ตันจากสหกรณ์
ภาพ/ข่าว:พันธุ์พงษ์ โพธิ์จินดา
รมช.เกษตรฯ สั่ง อ.ส.ค.ซื้อนมดิบวันละ 40 ตันจากสหกรณ์โคนมประจวบฯ – เพชรบุรี บรรเทาผลกระทบโควิด 19 ช่วงปิดโรงเรียน
วันที่ 8 มกราคม ที่สำนักงานองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคใต้ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมารับฟังปัญหาและหาแนวทางช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์โคนม 6 แห่งในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถระบายน้ำนมดิบในสต็อก จากกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศปิดสถานศึกษาในพื้นที่ 28 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 4-31 มกราคม 2564 เพื่อป้องกันโควิด 19 โดยประกาศดังกล่าวมีพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.ระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่จำหน่ายนมพาสเจอร์ไรซ์ตามโครงการอาหารเสริม นมโรงเรียนที่ผลิตโดยสหกรณ์โคนมหลายแห่ง ปริมาณน้ำนมดิบรวมวันละ 40 ตัน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สมาชิกของสหกรณ์ใน 2 จังหวัดกว่าพันครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน
มีรายงานว่า สำหรับการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนเพื่อยืดอายุน้ำนมดิบไม่ให้เกิดการสูญเสียหรือต้องเททิ้ง ชุมนุมสหกรณ์ภาคใต้และตะวันตกต้องการให้ อ.ส.ค.รับน้ำนมดิบของสหกรณ์เข้าผลิตเป็นนมกล่อง ยู.เอช.ที.เพื่อแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นระบบ โดยชุมนุมสหกรณ์จะจ่ายค่าผลิตนม ยู.เอช.ที.ให้กับทาง อ.ส.ค. และพร้อมจะนำนมกล่องที่ผลิตได้มาเก็บรักษาเพื่อจำหน่ายให้กับโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน และเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.) เจ้าของงบประมาณจัดซื้อนมในโครงการนม โรงเรียน ตั้งงบประมาณเพิ่ม เนื่องจากนม ยู.เอช.ที.มีต้นทุนสูงกว่านมพาสเจอร์ไรซ์ กล่องละ 1.40 บาท และขอให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างในการผลิตนม ยู.เอช.ที.แทนการผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ให้กับ อปท.และหน่วยงานจัดซื้อนมในโครงนม โรงเรียน สำหรับระยะยาวขอให้ภาครัฐสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างโรงงานแปรรูปนมผงให้กับชุมนุมสหกรณ์ภาคใต้และตะวันตก จำกัด
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการประชุมตัวแทนสหกรณ์โคนมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อสรุปให้ อ.ส.ค.ช่วยรับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมที่ล้นระบบวันละ 40 ตันเพื่อผลิตบรรจุกล่องเป็นนม ยู.เอช.ที. แบ่งเป็นสำนักงาน อ.ส.ค.ภาคใต้ รับวันละ 20 ตันสำนักงาน อ.ส.ค.มวกเหล็ก จ.สระบุรี วันละ 20 ตัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะรณรงค์ส่งเสริมให้หน่วยงานที่จะแจกถุงยังชีพช่วยประชาชนให้มีผลิตภัณฑ์นมอยู่ในถุงยังชีพ เพื่อสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกร และจะหาตลาดต่างประเทศเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์นมของไทย สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว อ.ส.ค.ภาคใต้ มีแผนจะสร้างโรงงานใหม่ให้รองรับน้ำนมดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 200 ตัน
ด้าน นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ในส่วนของนมพาสเจอร์ไรซ์บรรจุถุงที่ยังค้างสต็อกมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ในวัน 9 มกราคม จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยให้ อปท.รับซื้อและมอบให้แต่ละโรงเรียนไปบริหารจัดการแจกให้นักเรียน
นายนนทะชัย โนนพุทธา ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และภาคตะวันตก จำกัด กล่าวว่า การรับซื้อน้ำนมดิบของสหกรณ์โคนมเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงที่มีการประกาศปิดโรงเรียนเพื่อเร่งระบายน้ำนมดิบที่มีปริมาณวันละ 40 ตัน และหลังวันที่ 15 มกราคม 2564 จะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง โดยค่าขนส่งน้ำนมดิบ สหกรณ์จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด และพร้อมรับผลิตภัณฑ์นมบรรจุกล่อง ยู.เอช.ที. บริหารจัดการโดยในส่วนของนมโรงเรียนจะส่งให้กับโรงเรียนคู่สัญญา ส่วนนมกล่องจะจำหน่ายให้ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์การเกษตร
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/