ปราจีนบุรี – ระวังภัย! หาแนวทางแก้ปัญหา น้ำเค็มรุก กระทบเกษตรกรชาวนา

ปราจีนบุรี – ระวังภัย! หาแนวทางแก้ปัญหา น้ำเค็มรุก กระทบเกษตรกรชาวนา

ภาพ/ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ

            ระวังภัย! หาแนวทางแก้ปัญหา น้ำเค็มรุก กระทบนาข้าว และบ่อกุ้ง-บ่อปลา ล่าสุดค่าน้ำเค็มหนักแม่น้ำปราจีนบุรีค่าความเค็ม 3มก./ล.ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตร-อุปโภค -บริโภคได้แล้ว สส. พร้อม นอภ., ชลประทาน , เกษตรกรชาวนา –บ่อกุ้ง-บ่อปลา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และ อ.บางคล้า อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา เครียดปัญหา น้ำเค็มรุก กระทบการเก็บเกี่ยวผลผลิต นาข้าว และบ่อกุ้ง-ปลาขาดแคลนน้ำ

               วันนี้ 14 ม.ค.64 ที่ศาลาการเปรียญวัดใหม่โพธิ์เย็นหมู่ 11 ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี นายอำนาจ วิลาวัลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต1 ปราจีนบุรี (สส.) , นายชนาธิป โคกมณี นายอำเภอบ้านสร้าง ,นายพยนต์ พฤกษา กำนันตำบลบางยาง , นายนภดล วิศาลกมลหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง ร่วมกับเกษตรกรชาวนาข้าว ,ผู้เลี้ยงกุ้ง- ปลา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และ อ.บางคล้า อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มจากปากอ่าวไทยหนุนขึ้นสูงถึงแม่น้ำปราจีน ระดับความเค็มมากกว่า 3มก./ล. ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภค บริโภค และใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรมได้ ชาวนาต้องการน้ำจืดเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่รอการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนบ่อกุ้ง บ่อปลา ต้องการน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงบ่อรอการจับส่งขายช่วงพ้นสถานการณ์โควิด -19 ให้สามารถขายได้ราคาที่ดี โดยเบื้องต้นขอให้กรมชลประทานจัดสรรน้ำจากเขื่อนนฤบดินทร์จินดา หรือห้วยสโมง ,เขื่อนพระปรง เพื่อผลักดันน้ำเค็มไม่ให้หนุนสูงเกิน แล้วสูบน้ำเข้าคลองชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

              นายพยนต์ พฤกษา กำนัน ต.บางยาง กล่าวว่า “ การประชุมครั้งนี้ เนื่องจากเกิดวิกฤตน้ำเค็มหนุนขึ้นมาถึงเขตจังหวัดปราจีนบุรี บริเวณประตูน้ำบางกระดาน ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรีมีความเค็มถึง 3 มก./ล. น้ำไม่สามารถนำมาใช้ใช้กับพืชเช่นข้าว ที่ชาวนาปลูกไม่ได้จึงประสาน กลุ่มผู้ใช้น้ำเขตฉะเชิงเทราเช่นตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น,ตำบลโพรงอากาศ อำเภอคลองเขื่อน,ตำบลบางขนาก ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และ ในพื้นที่อำเภอบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่ตำบลบางแตน,ตำบลบางยาง,ตำบลบางเตย,ตำบลบ้านสร้าง,ตำบลบางปลาร้า และผู้ที่เกี่ยวข้องมีกรรมการลุ่มน้ำปราจีนบุรี , ตัวแทนสภาเกษตรจังหวัดปราจีนบุรีและผู้นำท้องที่และท้องถิ่นของอำเภอบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี มาร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นวิธีการแก้ไข  สรุปวาระการประชุมมีดังนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนาซึ่งท้องนาจำเป็นจะต้องใช้น้ำจืด จากแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแม่น้ำปราจีนบุรี คู คลองนี้อีกเป็นเวลาประมาณ 40 วัน โดยจะใช้น้ำตลอดไปจนถึงประมาณวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วท้องนาจะเริ่มเก็บเกี่ยวประมาณต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ที่เป็นช่วงขาดแคลนน้ำจืด เนื่องจากน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีน้ำเค็มหนุน ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรทั้งนาข้าว ,บ่อกุ้ง ,บ่อปลาได้ ตลอดรวมถึงไม่สามารถนำมาอุปโภค -บริโภคได้

                และมติที่ประชุมทางชลประทาน วางแผนการใช้น้ำไว้ให้แล้ว โดยจะปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ ที่ชลประทานดูแลอยู่ อาทิ เขื่อนห้วยสโมง หรือนฤบดินทรจินดา ,เขื่อนพระสทึง มาช่วยพี่น้องชาวอำเภอบ้านสร้างและจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยปล่อยน้ำมาให้ความเค็มอยู่ไม่ถึงเขตจังหวัดปราจีนบุรี หรือจะเรียกง่ายๆว่าไม่ให้ความเค็มขึ้นมาเลยจากตำบลบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และชาวบ้านและตัวแทนที่มารับฟังความคิดเห็นก็ยินดีด้วยที่ทางชลประทานบางพลวง ได้เห็นความสำคัญของพี่น้องชาวนาและได้ประสานงานให้การบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้รับฟังความคิดเห็นพอใจต่อการดำเนินการของชลประทาน”นายพยนต์กล่าว ด้านนายชนาธิป โคกมณี นายอำเภอบ้านสร้าง กล่าวว่า “การประชุมดังกล่าวนี้ เป็นการบริหารจัดการน้ำ สำหรับ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้สามารถใช้ร่วมกันได้ทั่วถึง ซึ่งต้องมีข้อตกลงร่วมกันช่วงวิกฤติน้ำเค็มหนุนแม่น้ำปราจีนบุรีนี้ และต้องจัดทำเป็นแผนรองรับอย่างยั่งยืนระยะยาวด้วย”นายชนาธิปกล่าว ขณะที่นายอำนาจ วิลาวัลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต1 ปราจีนบุรี (สส.) กล่าวว่า “จะได้นำข้อตกลงร่วมการบริหารจัดการน้ำ ,แนวทางก่อสร้างคันคลองป้องกันน้ำเค็มหนุน,การขุดลอก ,การบริหารงานร่วมของส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นให้ระบบชลประทานเกิดผลประโยชน์ร่วมกันของพี่น้อง จ.ปราจีนบุรี และ จ.ฉะเชิงเทราสูงสุด เสนอสู่รัฐบาลต่อไป”นายอำนาจ กล่าว ด้านนายมาโนช พูลสวัสดิ์ ผญบ.หมู่ 10 ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรีกล่าวว่า “จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้บ่อกุ้ง บ่อปลา ขายไม่ได้ราคา เนื่องจากมีการปิดตลาดทะเลไทย ราคากุ้งปกติ จะขายปกติ กก.ละ 200 บาท แต่สถานการณ์โควิด-19 ราคาลดลงเหลือเพียง 110 บาท / กก. เกษตรกร จึงยังไม่ได้จับขาย ชะลอให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ช่วงภาวะน้ำเค็มหนุน จะขาดแคลนน้ำ นอกจากนาข้าว ชาวบ่อกุ้ง บ่อปลาจึงต้องการน้ำด้วยเช่นกัน”นายมาโนช กล่าว ด้าน นายนภดล วิศาลกมลหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำฯ กล่าวว่า “ ในการแก้ไขปัญหาภาวะน้ำเค็มหนุนในเบื้องต้นนี้ ได้ประสานให้เขื่อนห้วยสโมง หรือนฤบดินทรจินดา ,เขื่อนพระสทึง เพิ่มขึ้นปริมาณวันละ1.2 ล้าน ลบ.ม. ปล่อยน้ำมาช่วยพี่น้องชาวอำเภอบ้านสร้างและจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยปล่อยน้ำมาให้ความเค็มอยู่ไม่ถึงเขตจังหวัดปราจีนบุรี” ด้าน นายนภดลกล่าว

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!