ชุมพร-หอการค้าชุมพร ขอให้ทบทวนรูปแบบโครงการสำรวจออกแบบโครงสร้างต่างระดับจุดตัด ทล.41 บนถนนเลี่ยงเมือง
ภาพ/ข่าว:ประสิทธิ์ ลีฬหคุณากร
เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (25 ธ.ค.67) นายกมล เรืองตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นางสุรางค์ วัชรพงศ์ ผู้บริหารโรงแรงเอเต้ และ อมรศักดิ์ จู้มณฑา เลขาธิการหอการค้าจังหวัดชุมพร ร่วมกล่าวถึง ในกรณีที่ กรมทางหลวงชนบท ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาใน โครงการสำรวจออกแบบทางแยกต่างระดับ บริเวณจุดตัด ทล.41 ถนนเลี่ยงเมืองชุมพร แยก ทล.41-ทล.4(ต.ขุนกระทิง-ต.บ้านนา) ที่มีระยะทางยาว 10 กิโลเมตร หลัง บริษัทที่ปรึกษาได้เปิดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนคนในพื้นที่ ครั้งที่ 3 เมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา และนำแบบที่มาจากการศึกษามาให้ประชาชนและภาคธุกิจเอกชนจังหวัดชุมพร พบว่าในแบบได้กำหนดให้เลี้ยวขวาทั้ง 4 ด้าน และจะต้องมีจุดกลับรถทั้ง 4 แยก ห่างจุดตัดแยกละประมาณ 640 ม. ทำให้สิ้นเปลื้องค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและเกิดค่าเสียโอกาสให้แก่ผู้สัญจรใช้รถใช้ถนนร่วม 100 ล้านบาท/ปี อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุที่สูงขึ้นได้จากโครงการนี้ในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้การจราจรในอนาคตติดขัดเพิ่มขึ้นมากขึ้น ที่สำคัญ โครงการนี้ก็ยังไม่ได้นำปัจจัยใดๆมารองรับ โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ของภาครัฐบาล Southern Economic Corridor (SEC) ที่จะเดินหน้าต่อไปในอนาคต และจะเป็นจุดบอดของจังหวัดชุมพรประตูภาคใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังไม่สามารถเดินหน้าจบได้ในโครงการเดียว เพราะโครงการได้ถูกแยกย่อยออกเป็น 2 ระยะ และกว่าจะแล้วเสร็จใจกว่าเปิดใช้งานได้ในปี 2575 หรือ 8 ปี และเมื่อนับไปอีก15ปี ระยะ 2 ซึ่งเป็นจุดเลี้ยวคู่ขนานก็จะเริ่มเดินหน้าก่อสร้างซึ่งจะช้าและไม่รองรับการเติบโตของชุมพรอีกด้วย นายกมล เรืองตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร กล่าวว่า เราไม่ได้ต้านโครงการนี้แต่ผมมองว่าโครงการนี้ตั้งไข่มาในปี 2560 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีโครงการ แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของภาคใต้ ทั้งยังก่อสร้างทางรอง(ถนนเลี่ยงเมือง) ไปคล่อมทางหลักสาย 41(เพชรเกษม) ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคใต้ ทำให้ศักยภาพของจังหวัดชุมพรด้อยค่าลง เพราะพี่น้องชาวชุมพรเราได้รับบทเรียนมาจากการสร้างทางแยกปฐมพร ซึ่งชาวชุมพรเรียนว่า “ทางแยกพิศวง” เพราะคนชุมพรไปแล้วต้องหลงทุกคน ขนาดผมเองยังหลงเพราะงงกับจุดกลับรถที่อยุบนทางแยกยกระดับเลย ทั้งนี้ เนื่องจากทางหลวงเอเชียสาย 41 ยังเป็นสายหลักสู่ภาคใต้ มีรถสัญจรจำนวนมาก จึงควรเป็นสายหลักที่มีสะพานยกระดับให้รถสัญจรได้คล่องตัวมากกว่านี้ และควรบริหารจัดการจราจรด้านล่างที่เป็นสายรองก็ควรมรไว้รองรับ เช่น วงเวียน ดรัมเบลล์ หรืออื่นๆที่เหมาะสม จะทำให้การจราจรที่สี่แยกนี้มีความลื่นไหลมากกว่า ออกแบบให้มีผลกระทบกับที่ข้างเคียงต้องน้อยที่สุด เราควรมองเป้าหมายหลักให้เป็นประตูเมืองใหม่ ของจังหวัดชุมพร(ทดแทนแยกปฐมพร) หากประตูเมืองมีความสะดวก คล่องตัว ปลอดภัยและสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ สามารถดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนเพิ่มในถนนเลี่ยงเมืองสาย จ. เพื่อเกิดเป็นถนนสายเศรษฐกิจอีกสายหนึ่งคู่ขนานกับสายวังไผ่-ระนองที่พัฒนาเต็มพื้นที่ไม่สามารขยายออกไปได้อีกแล้ว จังหวัดชุมพรเป็นเป็นเมืองเศรษฐกิจระดับต้นๆของภาคใต้ แต่โครงการนี้หากเป็นไปได้ควรพิจารณาทบทวนให้มีศักยภาพรองรับโครงการที่สำคัญของภาคใต้ที่จะเกิดขึ้นในระยะใกล้จากนี้ด้วย อย่าทำให้ชุมพรเสียโอกาสหรือด้อยค่าลงเลย
ทางด้าน นางสุราค์ วัชรพงศ์ ผู้บริหารโรงแรงเอเต้ กล่าวว่า ฉันก็ไม่รู้ว่าจะมีโครงการนี้ ก็มีโอกาสเข้าไปฟัง และคนที่เข้าร่วมรับฟังก็ไม่เห็นด้วย เพราะเท่าที่ดูจากแบบที่มาเสนอในโครงการบอกตามตรงว่า สับสนมากๆ เลยไม่รู้ว่าโครงการนี้จะมาสร้างศักยภาพให้ชุมพรได้จริงหรือไป เพราะเราได้รับบทเรียนจาก ทางแยกปฐมพรมาแล้วก่อนหน้านี้ ที่สำคัญโครงการนี้ไม่มีความสามารถรองรับโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ได้อีกด้วยซึ่งจะสิ้นเปลืองงบ ประมาณของแผ่นดินอีกด้วย.