อุบลราชธานี-กว่า 1 หมื่น คน ร่วมรำบวงสรวงสดุดีวีรกรรม เจ้าคำผง
ภาพ/ข่าว: กิตติภณ เรืองแสน
ชาวอุบลฯ กว่า 1 หมื่น คน ร่วมรำบวงสรวงสดุดีวีรกรรม เจ้าคำผง
วันนี้ ( 10 พ.ย.63 ) ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระประทุมวรราช สุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ณ บริเวณมณฑลทุ่งศรีเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ส่วนทองถิ่น มูลนิธิเจ้าคำผง ภาคเอกชน และประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบพิธีบวงสรวงสดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ประจำปี 2563 เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี แสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และสร้างความรักความสามัคคี มีจิตอาสา
โดยกิจกรรมมีการประกอบพิธีไหว้พระเจ้าใหญ่องค์หลวง และพิธีสักการะรูปจำลองพระประทุมวรราช สุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ที่วัดหลวง ตำบลในเมือง จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อัญเชิญรูปจำลององค์เล็กนำขบวนอัญเชิญเครื่องยศเจ้าเมืองตามแบบโบราณ จากวัดหลวงมาสู่บริเวณอนุสาวรีย์พระประทุมวรราช สุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ณ บริเวณมณฑลทุ่งศรีเมือง เพื่อประกอบพิธีบวงสรวง สักการะ สดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) พิธีวางขันหมากเบ็ง และการแสดงรำถวายมือ จากนักเรียน นักศึก และประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี จำนวนกว่า 1 หมื่นคน
พระประทุมวราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เป็นบุตรของพระเจ้าตาและนางบุศดี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2252 ที่นครเวียงจันทร์ เป็นหลานปูเจ้าปางคำ ราชวงศ์เชียงรุ้ง ได้อพยพมาสร้างเมืองหนองบัวลุ่มภู (หนองบัวลำภู) หรือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน เจ้าคำผงได้เสกสมรสกับเจ้านางตุ่ย ธิดาอุปราช (ธรรมเทโว) อนุชาของพระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้านครจำปาศักดิ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระประทุมสุรราช เมื่อปี พ.ศ.2323 อันเป็นตำแหน่งนายกองใหญ่คุมเล็ก (ไพร่) อยู่ที่บ้านดู่ บ้านแก ขึ้นกับนครจำปาศักดิ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2329 ได้ย้ายครอบครัวและไพร่พลจากบ้านดู่ บ้านแก มาตั้งบ้านเมืองใหม่ ที่ตำบลห้วยแจระแม โดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และตั้งชื่อเมืองนี้ว่า เมืองอุบล จากการร่วมปราบกบฏอ้ายเซียงแก้ว ในปี พ.ศ.2334 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระประทุมสุรราช (เจ้าคำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ และยกฐานะเมืองอุบล เป็น “เมืองอุบลราชธานี ศรีวนาลัย ประเทศราช”ด้านการสงคราม เป็นทหารเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ช่วยเหลือการสงครามระหว่างไทยกับหัวเมืองประเทศราชและปราบปรามความไม่สงบที่เกิดขึ้นในหัวเมืองต่าง ๆ หลายครั้ง พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ครองเมืองอุบลาชธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2321 จนถึงปี พ.ศ.2338 รวม 17 ปี จนถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2338 สิริอายุได้ 85 ปี
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/