นครปฐม-ธรมมะดีๆจากหลวงพี่น้ำฝน “มีอะไรไม่พูดกัน..บรรลัย”

นครปฐม-ธรมมะดีๆจากหลวงพี่น้ำฝน “มีอะไรไม่พูดกัน..บรรลัย”

ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน

ธรมมะดีๆจากหลวงพี่น้ำฝน “มีอะไรไม่พูดกัน..บรรลัย”

             เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน คราวที่แล้ว อาตมาได้เล่าถึงคนคนหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนเขาก็เป็นพวกเจ้าคิดเจ้าแค้น เจอลูกค้ากดราคาค่าจ้างงาน ก็เลยแก้แค้นด้วยการรับงานมาดองไว้ แล้วก็ทำไม่รู้ไม่ชี้จนเขาตามงานแล้ว ตามงานเล่า สุดท้ายก็มีเรื่องมีราวกันถึงขั้นคนจ้างจะไปแจ้งตำรวจ จะไปฟ้องศาล เอาผิดนายคนนี้ จนพี่แกยอมกลับมาเจรจากันดี ๆ ​คนเรานะคนเรา พูดกันดี ๆ ก็ไม่ได้ เล่นแง่ไปเล่นแง่มาจนสุดท้ายภัยมาถึงตัวเสียเอง​นายคนนี้ยังดีที่อาตมาได้สั่งสอนให้กลับตัวกลับใจเสียได้ ไม่ไปกวนอวัยวะเบื้องล่างใครเขาอีก เอาเป็นว่า รับงานไหวก็ทำเต็มที่ ถ้าทำไม่ไหว ต้นทุนสูงนักก็อย่าไปทำเลย แต่ถ้าอยากจะทำจริง ๆ ขอให้จำไว้ว่า จะเจรจาการค้านั้นต้องรู้จักพูดจา ขอเพิ่มนิดหน่อย หรือยอมโอนอ่อนตามเสนอบ้าง เหมือนไผ่ลู่ลม ยังไงธุรกิจก็รอด นี่มันเข้าหลัก “ปิยวาจา” นะ คือ พูดจาสุภาพเรียบร้อยเหมาะแก่โอกาส สามารถโน้มน้าวใจให้คนนิยมชมชอบ ยินยอมตามต้องการได้ โบราณท่านถึงว่าเอาไว้ไง ว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท เรื่องการใช้วาจานี่เป็นเอก เป็นที่หนึ่งเลย ความรู้ การเขียนการอ่านนี่ดูจะเป็นเรื่องรองด้วยซ้ำ เพราะก็เป็นไปตามที่ครูบาอาจารย์แต่ก่อนเขียนกลอนไว้ “ปากเป็นเอกเหมือนเสกมนต์ให้คนเชื่อ ฉลาดเหลือวาจาปรีชาฉาน” นั่นแล ถ้าคุยกันดี ๆ ก็เหมือนเสกมนต์ได้จริง ๆ ขอให้ญาติโยมทุกคนจำเอาไว้ว่ามนุษย์เราเสกมนต์ได้ ด้วยปากของเราเอง ​การใช้ปากนั้นสำคัญนะ ปากคือเครื่องมือสื่อสารหลักของมนุษย์ สุนทรภู่ครูกวีเอกของไทยก็ยังเขียนกลอนเอาไว้ ท่องกันมาแต่ครั้งยังเด็ก ๆ ว่า “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา” เห็นไหมว่าจะเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป จะชอบกัน เกลียดกัน ผิดใจกัน ก็ขึ้นกับการพูดทั้งสิ้น ขึ้นกับว่าเราพูดดี พูดร้าย หรือไม่พูดเลย

              ​พูดดีเป็นศรีแก่ปาก ถึงจะไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรมากมายในวงสนทนา แต่ก็ไม่ได้ก่อผลร้ายแก่ตัวเราเองเช่นกัน ศรีมันก็จะเกิดกับตัวของเรา พูดดีนั้นก็มีหลายอย่าง พูดจาเหมาะแก่กาลเทศะ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำให้คนนิยมชมชอบ นิยมยินดี เกิดความสร้างสรรค์จรรโลงใจ ส่วนพูดร้ายก็ตรงกันข้ามกัน คือ พูดไม่เหมาะแก่กาลเทศะ พูดจากระทบกระเทียบเสียดสี ยุแยงตะแคงรั่ว เป็นบ่างช่างยุ ทำให้คนทะเลาะเบาะแว้งกัน ผิดใจกัน เข้าใจผิด ในสิ่งที่สมัยนี้เรียกโก้ ๆ ว่าเฟคนิวส์ สิ่งทั้งหลายนี้ไม่ดีทั้งนั้นเลย แต่ทำไมนะทำไม ทำไมคนจึงชอบพูดร้าย หรือชอบฟังคำพูดร้ายแบบนี้ก็ไม่รู้ อาตมาไม่เข้าใจ

               ​นอกจากการพูดดี และพูดร้าย ก็การไม่พูด การไม่พูดนี่แหละ เป็นเรื่องน่าคิด เพราะเรื่องบางอย่าง ไม่พูดแล้วจึงดี ดังคำโบราณว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” ถ้าเป็นเรื่องแบบนั้น ไม่พูดเสียจะดีกว่า เพราะบางทีพูดออกไป แทนที่ปัญหาจะยุติ กลายเป็นว่าเกิดปัญหาใหม่ ผูกพันพันพัวให้ซับซ้อนจนยากจะแก้ไข คนที่พูดในโอกาสไม่ควรพูดนี้ เขามีคำเรียกอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น ปากเสีย ปากสว่าง หรือปากโฮ่ง ๆ ก็ตามแต่จะเรียกกัน ถ้าไม่อยากจะถูกเรียกอย่างนั้นก็ขอให้ดูทางลมละกัน คือกาลเทศะอันควรพูด ​แต่บางโอกาส ควรพูด แต่ไม่พูด แบบนี้ก็เกิดผลร้ายได้เหมือนกัน

​                ย้อนกลับไปที่เรื่องของคนที่อาตมาเล่าให้ฟังแต่ครั้งแรก นายคนนี้มีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เขาก็อยู่อาศัยด้วยกัน เพราะเป็นหุ้นส่วนกัน ก็เช่าบ้านอยู่ด้วยกันเรื่อยมา จนกระทั่งนายคนนี้ไปมีเรื่องกับผู้ว่าจ้างคนนู้นคนนี้ เพราะไปดองงานเขา เบี้ยวคนนู้นคนนี้ เพื่อนคนนั้นก็เครียด เก็บกด กลุ้มใจทำไมเพื่อนเราเป็นแบบนี้ ไปดองงานลูกค้า มีเรื่องกับลูกค้า เท่านั้นไม่พอ ยังเป็นคนชอบกินเหล้าเคล้านารีอยู่เสมอ แต่ถึงจะเป็นคนที่เครียด เก็บกดอย่างไรก็ตาม แต่ก็เอาเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปคุยกับคนนู้น คนนี้ ในทำนองนินทา โดยที่ไม่เคยได้พูดคุย ปรึกษาหารือ หาหนทางช่วยเหลืออะไร ความอึมครึมเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็มีเหตุต้องแตกหัก ทะเลาะกัน อยู่ด้วยกันไม่ได้อีก แยกทางกัน ​นั่นแหละโยม เวลาที่ควรพูด ก็ต้องพูด ถ้าไม่พูดก็ไม่เข้าใจกัน ถ้าไม่คุยก็ไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิด แล้วจะไปหาความคิดความอ่านจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ที่ผ่านมา นายคนนั้นที่เป็นเจ้าของเรื่อง ก็เต็มไปด้วยความแค้น มันก็จะพุ่งไปหาแต่ปัญหา ส่วนเพื่อนร่วมห้องร่วมหุ้นนั่นก็ไม่รู้จักพูดเตือนสติ พูดหาทางแก้ปัญหา ปล่อยให้ปัญหามันเกิดแล้วก็เก็บไว้ เอาไปปล่อย ไปนินทากับคนอื่น ปัญหามันจะไปแก้ได้อย่างไร ​คนเราเป็นเพื่อนกัน ต้องเป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน คือเป็นเพื่อนที่ดีให้แก่กัน ไม่ใช่เป็นมิตรปฏิรูป หรือ มิตรเทียม ที่ต่อหน้าก็อย่างหนึ่ง ลับหลังก็นินทา การเป็นมิตรแท้ หรือกัลยาณมิตรต่อกันนั้น ท่านว่ามี 7 ข้อ คือ
​1. น่ารัก ชวนให้เข้าหา อยู่ด้วยแล้วสบายใจ สนิทสนม
​2. น่าเคารพ อยู่ด้วยแล้วอุ่นใจ เป็นที่พึ่งพิงได้
​3. น่ายกย่อง ควรเอาอย่างเขา เป็นที่ชื่นชมด้วยความภาคภูมิใจ
​4. เป็นที่ปรึกษาที่ดี รู้จักให้คำแนะนำ ตักเตือน
​5. พร้อมรับคำฟังแนะนำ ตักเตือน
​6. เข้าใจอธิบายความ สามารถอธิบายเรื่องที่ยาก ซับซ้อน ให้เป็นเรื่องง่ายได้
​7. ไม่ชักจูงให้ไปในทางเสื่อมเสีย
​จะเห็นได้ว่า ถ้าใครมีเพื่อนที่มีครบทั้งเจ็ดข้อ ขอให้รักษาไว้ให้ดี ๆ เถิด เขาเป็นคนที่พูดในเวลาที่ควรพูด ไม่พูดในเวลาที่ไม่ควรพูด เขาเป็นคนที่ไม่ขายเพื่อน เขาเป็นคนที่ไม่พาเพื่อนของตนตกต่ำ แต่ให้มีความเจริญยิ่งขึ้นไป ไม่ว่าเพื่อนคนั้นจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ อยู่ในฐานะไหน หรืออีกทางหนึ่งคือ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ของเราก็เป็นดังเพื่อนของเรา หากมีคุณสมบัติดังว่านี้ ตัวเราเองก็ควรมีให้ครบทั้งเจ็ดข้อนี้เถิด ขอเจริญพร

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!