ราชบุรี-ชาวมะพร้าวดำเนิน-บางแพ ยันไม่เคยใช้ลิงเก็บมะพร้าว
ภาพ/ข่าว:สุจินต์ นฤภัย(เต้)
กลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม อ.ดำเนินสะดวก และอ.บางแพ ยันไม่ได้รับผลกระทบ”พีต้า”บอยคอตสินค้ามะพร้าวไทย แต่ไม่อยากให้”พีต้า”กล่าวหาประเทศไทยให้เสียหาย ขณะที่พาณิชย์ จ.ราชบุรี ย้ำลิงไม่สามารถสนองความต้องการใช้มะพร้าวของมนุษย์ได้
จากกรณีที่องค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้า(PETA) กล่าวอ้างประเทศไทยใช้แรงงานลิงกังเพศผู้ จากในป่ามาฝึก และปฏิบัติกับลิงเหล่านี้ราวกับเครื่องจักรเก็บมะพร้าว เข้าข่ายทารุณสัตว์ และระบุว่า สวนมะพร้าวในไทย บังคับลิงเพศผู้เก็บมะพร้าววันละเป็นพันลูก จนเป็นกระแสให้ประเทศอังกฤษ บอยคอตผลิตภัณฑ์มะพร้าว ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะพร้าว กะทิ และน้ำมันมะพร้าว ออกจากชั้นวางสินค้าในประเทศอังกฤษ
ล่าสุดวันนี้ (8 ก.ค.63) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตผลไม้ปลอดภัยปลอดสารพิษเพื่อส่งออก จ.ราชบุรี เลขที่ 89 หมู่ที่ 10 ต.วัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี โดยได้พบกับ นายประยูร พิสุทธิ์ไพศาล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ พร้อมนายประสมชัย พูลเกิด พาณิชย์ จ.ราชบุรี โดยได้พาผู้สื่อข่าวชมขั้นตอนการเก็บมะพร้าวน้ำหอมจนถึงขั้นตอนบรรจุสินค้าส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ในเขตพื้นที่ หมู่ 5 บ้านรางเฟื้อ ต.ดอนคลัง อ.ดำเนินสะดวก ซึ่งทุกขั้นตอนใช้แรงงานของมนุษย์ ไม่ได้ใช้แรงงานลิงอย่างที่องค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้ากล่าวอ้าง นอกจากนี้กลุ่มผู้เก็บมะพร้าวในพื้นที่ อ.ดำเนินสะดวก และอ.บางแพ จังหวัดราชบุรี ยังได้ทำท่าล้อเลียนด้วยการถือลูกมะพร้าวน้ำหอมอยู่ในมือ และร้องเจี๊ยก เจี๊ยก เหมือนลิง ที่องค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้า กล่าวหาว่าประเทศไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวอีกด้วย
นายประยูร พิสุทธิ์ไพศาล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวว่า จังหวัดราชบุรีส่วนใหญ่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม และไม่เคยใช้ลิงเก็บมะพร้าวน้ำหอม เพราะลิงไม่สามารถแยกหรือดูเนื้อมะพร้าวได้ แต่ที่องค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้า นำภาพมาเผยแพร่นั้นเป็นภาพจากทางภาคใต้ ซึ่งลิงนั้นนำมาแสดงในการเก็บมะพร้าว ซึ่งกลุ่มมะพร้าวน้ำหอมในจังหวัดราชบุรี ไม่ได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้ และการเก็บมะพร้าวน้ำหอมนั้นจะใช้คนตัดลงร่องน้ำสวนมะพร้าว ก่อนจะร่องตามน้ำและนำมาขึ้นรถ ซึ่งทุกขั้นตอนไม่มีการใช้ลิง จะใช้แรงงานมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งตลาดมะพร้าวน้ำหอม ส่วนใหญ่ตลาดหลักของประเทศไทยคือตลาดประเทศจีน ส่วนมะพร้าวน้ำหอมแปรรูปที่นำไปจำหน่ายในประเทศยุโรปและประเทศอเมริกามีส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งตนยืนยันได้ว่า กลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวใน อ.ดำเนินสะดวก และ อ.บางแพ ตั้งแต่ตนเกิดมาไม่เคยเห็นมีใครใช้แรงงานลิงมาเก็บมะพร้าว มีแต่แรงงานมนุษย์ซึ่งเป็นชาวไทยและชาวเมียนมา และลิงไม่สามารถเก็บมะพร้าวตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมะพร้าวได้อย่างแน่นอน “ตนอยากฝากว่า การที่องค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้า ที่มาเที่ยวเมืองไทย และไปดูการแสดงลิงเก็บมะพร้าว ก่อนนำมาทำเป็นสารคดี กล่าวหาคนไทยเราใช้ลิงเก็บมะพร้าว ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยเสื่อมเสีย ถึงแม้มะพร้าวน้ำหอมจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่อยากให้องค์กรทักษ์สัตว์พีต้า กล่าวหาประเทศไทยแบบนี้” นายประยูร พิสุทธิ์ไพศาล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่นายประสมชัย พูลเกิด พาณิชย์ จ.ราชบุรี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นายชยาวุธ จันทร ผวจ.ราชบุรี ให้เดินทางมาตรวจสอบเกี่ยวกับกรณีองค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้า กล่าวอ้างประเทศไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว จนมีการบอยคอตให้เก็บสินค้าจากผลิตภัณฑ์มะพร้าว ออกจากชั้นวางสินค้าในประเทศอังกฤษ ซึ่งในจังหวัดราชบุรี เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอม โดยมะพร้าวน้ำหอมกับมะพร้าวแกง เป็นผลผลิตคนละตัวกัน พันธุ์ก็คนละชนิดกัน วิธีการปลูกก็ต่างกัน โดยมะพร้าวน้ำหอมปลูกเพียง 3 ปี สามารถเก็บผลผลิตได้ แต่มะพร้าวแกงนั้นต้องปลูก 5 – 7 ปีขึ้นไปถึงจะสามารถเก็บผลผลิตนำมาแปรรูปเป็นกะทิกล่อง ในกรณีที่เป็นข่าวนั้น อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า มะพร้าวน้ำหอมกับมะพร้าวแกงเป็นคนละพวก ซึ่งในจังหวัดราชบุรีมีการปลูกมะพร้าวแกงอยู่ที่ประมาณ 17,000 ไร่ และไม่มีการใช้ลิงในการเก็บมะพร้าวแกงเลย จะใช้แรงงานคนเป็นหลัก
พาณิชย์ จ.ราชบุรี กล่าวอีกว่า มะพร้าวแกงปีหนึ่งทั้งประเทศไทยสามารถผลิตได้ปีละ 600 ล้านลูก ซึ่งมีไม่เพียงพอต้องปริมาณความต้องการใช้ของมนุษย์ ประเทศไทยจึงต้องนำเข้าผลมะพร้าวแกงจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนามปีละ 300 ล้านลูก ในการนำมาผลิตเป็นกะทิกล่อง เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งในการผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมนั้น จึงไม่สามารถใช้ลิงในการเก็บมะพร้าวได้ เนื่องจากบางโรงงานใช้มะพร้าวในการผลิตกะทิกล่องวันหนึ่งเป็นแสนลูก และลิงไม่สามารถเก็บมะพร้าวได้วันละพันลูก ตามที่องค์กรพิทักษ์สัตว์พีต้ากล่าวอ้าง ซึ่งภาพบางภาพที่พีต้านำมาเผยแพร่บางภาพเป็นภาพเก่าหลายปี ซึ่งตนกล้ายืนยันได้ว่า ไม่มีการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวแกงอย่างแน่นอน เพราะลิงไม่สามารถสนองความต้องการใช้มะพร้าวของมนุษย์ได้ ทั้งในด้านบริโภคและภาคอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/