พิษณุโลก-เปิดชีวิตลุงน้อยเก็บเงินมาทั้งชีวิตหวังจบปริญญาตรี แต่มีปัญหาเงินหมด
ภาพ/ข่าว:อนุชา แก้วคำมา
ชีวิตไม่มีใครแก่เกินเรียน ธารน้ำใจจากชาวโซลเชียลบริจาคเงินให้ลุงน้อย วัย 56 ปี นศ.มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม หลังจากเก็บเงินมากกว่า 10 ปีเพื่อมาเรียนต่อ แล้วเงินหมด เนื่องจากฐานะยากจน ต้องขอลาออก แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างช่วยกันบริจาคและนำเรื่องราวไปโพสต์บนเพจ ทำให้คนต่างช่วยเหลือจนมีเงินสามารถเรียนจบหลักสูตรต่อไปได้
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเพจเฟซบุ๊กของสาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้โพสต์เรื่องราวของนักศึกษารายหนึ่ง คือ นายวิรัชชัย สงวนสิน หรือลุงนัอย อายุ 56 ปี นักศึกษาภาคเสาร์-อาทิตย์ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเป็นนักศึกษาที่อายุมากที่สุดในชั้นเรียน ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เทอม 2 แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนจึงเดินทางมาพบอาจารย์ที่ปรึกษาและแจ้งอาจารย์ว่าจะขอลาออกเนื่องจากไม่มีค่าเทอมแล้ว สร้างความตกใจให้กับคณะอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นเป็นอย่างมาก เพราะว่าลุงน้อยมีความตั้งใจเรียนดีและมีความตั้งใจที่จะเรียนให้จบเพื่อรับใบปริญญาตามความฝันที่หวังไว้ เพราะปริญญาคือเป้าหมายในชีวิตลุง จึงนำเงินที่ได้จากการสะสมเก็บหอมรอมริบขณะไปทำงานมาเป็นค่าเทอมตั้งแต่ปีแรกจนถึงวันนี้เงินไม่มีเหลืออีกแล้ว ด้วยความเห็นใจของคณะอาจารย์จึงปรึกษากันว่าจะลงเรื่องราวของลุงน้อยในเพจเฟซบุ๊กของสาขาวิชาภาษไทยที่ลุงน้อยเรียนอยู่ เพื่อให้ศิษย์เก่าที่มีจิตเมตตาช่วยกันบริจาคเป็นค่าเทอม แต่ปรากฏว่าหลังจากเผยแพร่ออกไปมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาให้กำลังใจพร้อมแชร์กันเป็นจำนวนมาก จนขณะนี้ยอดเงินในบัญชีของลุงน้อยเพียงพอเป็นค่าเล่าเรียนเรียบร้อยแล้ว ทางคณะอาจารย์จึงขออนุญาตปิดรับบริจาคทุนการศึกษาและขอบคุณผู้ใจบุญที่ช่วยเหลือลุงน้อยให้ได้เรียนสำเร็จตามที่หวังไว้
ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ บริเวณที่ดินด้านหลังโรงเรียนวัดโคกสลุด หมู่ 2 บ้านโคกสลุด ต.บ้านไร่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ดินเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา ปลูกสร้างลักษณะเป็นเพิงพักก่อด้วยอิฐบล็อคสูงกว่า 1 เมตร มุงด้วยสังกะสี ไม่มีฝาบ้าน มีเพียงแคร่ไม้และมุ้งใช้สำหรับนอน ไม่คุ้มแดดคุ้มฝน ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า ส่วนห้องส้วมก็ใช้งานไม่ได้ ไม่มีเลขที่แต่อย่างใด พบกับนายวิรัชชัย สงวนสิน หรือ ลุงน้อย อายุ 56 ปี นักศึกษาภาคเสาร์-อาทิตย์ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่เพิ่งกลับจากนำรถจักรยานยนต์ไปเปลี่ยนยาง
เมื่อสอบถามเรื่องราวลุงน้อยถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ พร้อมเปิดเผยว่า ตนเองเคยไปทำงานรับจ้างทั่วไปอยู่ที่กรุงเทพ เป็นระยะเวลาถึง 10 ปี หลังจากนั้นตนเองก็มีเงินเก็บจำนวน 70,000 บาท จึงตัดสินใจกับมาอยู่ที่บ้านเกิด ส่วนพ่อกับแม่นั้นเสียชีวิตไปนานแล้ว ไม่มีครอบครัวอยู่ตัวคนเดียว และมาหาซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือตั้งใจเอาไว้ว่าจะเก็บไว้เรียนต่อปริญญาตรี เพราะก่อนหน้านี้เคยไปเรียน กศน. จนจบชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 จึงไปสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อ.เมืองพิษณุโลก โดยเลือกเรียนสาขาวิชาภาษาไทย เพราะมีความตั้งใจแต่เด็กว่าอยากจะเป็นคุณครูสอนหนังสือให้เด็กๆ ถึงแม้อายุจะล่วงมาถึงวัยกลางคนแล้วก็ไม่ได้ล้มเลิกความตั้งใจอันแน่วแน่ จะต้องเรียนจบคว้าใบปริญญามาให้ได้ ไม่มีใครแก่เกินเรียน แต่ระยะหลังตนเองหารายได้จากอาชีพรับจ้างทั่วไปในหมู่บ้านได้น้อย จึงต้องนำเงินเก็บออกมาใช้จ่ายบ้างจนเงินไม่พอที่จะจ่ายค่าเทอมในชั้นเรียนปีที่ 2 เทอม 2 เหลือเงินติดบัญชีเพียง 20 บาทเท่านั้น และไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร ญาติพี่น้องก็ไม่มี ก่อนจะตัดสินใจเดินทางจากบ้านไปแจ้งกับอาจารย์ผู้สอนว่า จะขอลาออกดังกล่าว หลังจากนั้นจึงได้มีการพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะเห็นว่าตนเองเรียนมาถึงขั้นนี้แล้วไม่อยากให้เสียโอกาส อยากให้เรียนไปจนจบชั้นปีที่ 4 จะขอทุน กยศ. จากมหาวิทยาลัยก็ไม่เข้าเงื่อนไขเนื่องจากอายุเกิน ส่วนทุนของมหาวิทยาลัยจะต้องขอพิจารณาในปีหน้า อาจารย์จึงตัดสินใจนำเรื่องราวไปโพสต์ผ่านสื่อโซเชียลกระทั่งมีกลุ่มนักศึกษาและผู้ใจบุญร่วมกันบริจาคเงินสบทบทุนการศึกษาเข้าบัญชีจำนวนหนึ่ง ขณะนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะเรียนจนจบหลักสูตรจึงขอปิดรับบริจาค ถ้าหากเงินที่ได้รับบริจาคมาเพียงพอเหลืออยู่ก็จะนำไปเป็นทุนการศึกษาให้กับรุ่นน้องคนอื่นๆ
อาจารย์ปฐมพงษ์ สุขเล็ก อาจารย์ที่ปรึกษาประจำชั้น พร้อมด้วย อาจารย์ธีรพัฒน์ พูลทอง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิลปวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้เดินทางไปติดความความคืบหน้า เปิดเผยว่า ลุงน้อยเป็นนักศึกษาที่มีความตั้งใจเรียนดีมาก ถึงแม้จะช้ากว่าเพื่อนคนอื่นๆ เนื่องจากอายุต่างกันมาก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและวัยรุ่น ทุกคนในชั้นเรียนจะคอยช่วยเหลือลุงน้อยหากมีข้อสงสัย การเรียนถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 2.5 ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ลุงน้อยจะขี่รถจักรยายนต์คู่ใจจาก อ.บางกระทุ่ม เข้ามาเรียนในตัว อ.เมืองพิษณุโลก เป็นระยะทางไปกลับถึง 80 กิโลเมตร ที่ผ่านมาเรื่องค่าเล่าเรียนไม่เคยมีปัญหา เพราะลุงน้อยมีเงินเก็บจากการทำงานที่สะสมไว้ กระทั่งเข้าสู่ชั้นปีที่ 2 เทอม 2 การเงินลุงน้อยเริ่มมีปัญหาไม่สามารถหามาจ่ายค่าเทอมได้ทันเวลา ด้วยความกังวลและหาทางออกไมได้ จึงเดินทางมาพบกับอาจารย์เพื่อขอลาออก เพื่อนร่วมห้องเกิดความสงสาร จึงแอบติดตามไปที่บ้าน ทำให้พบกับภาพสุดเวทนา เมื่อเห็นสภาพบ้านของลุงน้อยเป็นเพียงเพิงพักเล็กๆ ในสวนต้นกล้วย ไม่มีฝาบ้าน มุงหลังคาสังกะสี ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้าใช้ เวลาจะทำการบ้านตอนกลางคืนต้องจุดเทียนเพื่อให้แสงสว่าง หรือเวลาจะเข้าห้องน้ำต้องไปขออาศัยเพื่อนบ้าน หรือวัดใกล้เคียง ชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบากมาก แต่ลุงน้อยก็บอกว่าอยู่จนเคยชินแล้ว เพราะแต่ชีวิตวัยเด็กลำบากมาตลอด สร้างความสงสารให้กับผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก จึงขออนุญาตนำเรื่องของลุงน้อยไปโพสต์เพื่อขอบริจาคเป็นค่าเทอมจำนวน 8,000 บาท และไม่คาดคิดว่าจะมีผู้ที่เห็นใจบริจาคเงินมาเป็นจำนวนมากจนเพียงพอแล้ว จึงขอยุติการขอรับบริจาค ส่วนเรื่องที่ว่ายอดเงินขณะนี้อยู่ที่เท่าใดนั้นจะต้องพาลุงน้อยไปทำธุรกรรมทางการเงิน พร้อมพาลุงน้อยไปพบกับผู้บริหารของทางมหาวิทยาลัยเพื่อพูดคุยในการจัดการค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียนให้แล้วเสร็จตามขั้นตอน
ส่วนเรื่องการปรับปรุงซ่อมแซมที่พักอาศัยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นนั้น ลุงน้อยก็ยินดีถ้าหากมีผู้ใจบุญอยากจะช่วยเหลือ แต่เรื่องของค่าเล่าเรียนขณะนี้เพียงพอจนเรียนจบหลักสูตร ส่วนเงินที่เหลือจะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษา ให้กับนักศึกษาที่ยากไร้รุ่นอื่นๆ ต่อไป ด้านนายสุทธินันท์ สีกะพา หัวหน้าห้องเรียนของลุงน้อย บอกว่า เห็นลุงน้อยเรียนมาด้วยกันตั้งแต่ปี 1 แล้วและวันหนึ่งก็ชักชวนเพื่อนในห้องแอบตามลุงน้อย มาดูบ้านพัก เนื่องจากสงสัยว่าทำไมลุงน้อย ไม่ค่อยพูดถึงบ้านของตนแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากที่ได้เห็นบ้านของลุงน้อย แล้ว รู้สึกสงสารเป็นอย่างมาก ซึ่งตนเองก็นำได้ไปปรึกษาอาจารย์ประจำคณะ และเพื่อนที่คณะเทคโนโลยีฯ เพื่อที่จะหาทางนำแผงโซล่าเซลล์มาติดตั้งให้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน และจะหาวิธีทางช่วยกันซ่อมแซมบ้านที่อยู่ให้มิดชิดอีกครั้ง
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/