ประจวบคีรีขันธ์-รับฟังปัญหาจากชาวบ้านพบว่าช้างป่ารุกหนักขึ้นทุกวัน

ประจวบคีรีขันธ์-รับฟังปัญหาจากชาวบ้านพบว่าช้างป่ารุกหนักขึ้นทุกวัน

ภาพ/ข่าว:พันธุ์พงษ์ โพธิ์จินดา

                             ลดาวัลลิ์ลงพื้นที่กุยบุรี รับฟังปัญหาจากชาวบ้านพบว่าช้างป่ารุกหนักขึ้นทุกวัน เร่งผลักดันแก้ไข

                   วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นกระทู้ถามแยกเฉพาะต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องปัญหาช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ว่าจะมีแนวทางในการเยียวยาความเสียหายอย่างไร และแผนการสร้างแหล่งอาหารช้างในป่า มั่นใจว่าเพียงพอต่อปริมาณช้างป่า 300 ตัวหรือไม่ โดยนายพรเทพ ย้ำว่าระบบติดตามการเฝ้าระวังช้างป่าผ่านกล้องและศูนย์ควบคุม ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาทำพิธีเปิดเมื่อเดือนกันยายน ปี 2562 นั้นยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่หลายอย่าง
                  และเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายเทอดธนัท สีเขียว รองประธานคณะทำงานศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ร้องเรียนของพรรคเพื่อไทย นายวรรณะ เดชรา อดีตที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการสวัสดิการสังคม จึงได้เดินทางมาดูข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ทั้งนี้นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตสมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายดิเรก จอมทอง คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ พร้อมชาวบ้านรวมไทยและบ้านย่านซื่อจำนวนมากให้การต้อนรับ ณ ลานสำนักสงฆ์เขาตาโก้ (วัดย่านซื่อ)ม.9 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และติดกับแนวป่าตะนาวศรี มีไร่สับปะรดของชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก อยู่ไม่ไกลออกไป
                  ชาวบ้านที่มาร่วมได้เล่าให้ฟังว่าหลังเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานทั้งวันในไร่ ตกเย็นต้องออกไปเฝ้าไร่ของตัวเองทั้งคืน อดหลับอดนอนเป็นแบบนี้มาหลายปีเพราะต้องเฝ้าระวังช้างป่าจะเข้ามากินและทำลายพืชไร่ของตัวเอง บางส่วนบอกว่าหากสถานการณ์ช้างป่ายังเป็นแบบนี้ คิดว่าอีก 5 หรือ 10 ปี ทั้ง 2 หมู่บ้านอาจกลายเป็นหมู่บ้านร้างเพราะทุกวันนี้ฝูงช้างออกมาทุกคืนเป็นจำนวนมากและเริ่มเข้าถึงหมู่บ้านเขตที่อยู่อาศัย หากทำกินไม่ได้คงต้องไปหาที่ทำกินใหม่ ที่เสนอออกไปว่าปัญหาช้างป่าได้รับการแก้ไขแล้วนั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรพวกตนเป็นชาวไร่ชาวสวนสื่อสารไม่เป็น อยากให้ส่วนราชการและผู้บริหารระดับสูงเข้ามาดูข้อเท็จจริงบ้าง จะได้รู้ว่าพวกตนเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ
                   ด้านนายเทอดธนัท ซึ่งมีความรู้ด้านวิชาการด้วยนั้น ได้ให้ขอแนะนำที่น่าสนใจอย่างยิ่งกรณีการติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า ที่กลางวันจะแฝงอยู่ในป่าและออกมาช่วงกลางคืน โดยอยากให้ส่วนราชการพิจารณาศึกษาการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่น การใช้ชิพฝังหรือติดไว้กับตัวช้าง จากนั้นจะสามารถมอนิเตอร์หรือเฝ้าติดตามช้างแต่ละตัวได้แบบเรียลไทม์ว่าอยู่ในตำแหน่งไหน หากพบว่าเข้ามาในโซนควบคุมใกล้กับพื้นที่ไร่ของชาวบ้าน จึงให้หน่วยเฝ้าระวังออกไปปฏิบัติการ ซึ่งวิธีการนี้ชาวบ้านไม่ต้องไปอดหลับอดนอนในไร่และยังทำให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลความเคลื่อนไหวมาดำเนินการวางแผนเชิงป้องกันเหตุซึ่งจะดีกว่ามาตามแก้ที่ปลายเหตุ ส่วนในระยะยาวหรือจะมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมจึงค่อยคิดอ่านกันต่อไป หลังใช้เวลาเปิดรับฟังปัญหาราว 2 ชั่วโมง ชาวบ้านได้ร่วมกันแสดงประชามติด้วยการยกมือเป็นเอกฉันท์ ขอให้คณะฯ ร่วมผลักดันให้มีการก่อสร้างรั้วกันช้างกึ่งถาวร ซึ่งอดีตชาวบ้านเคยร่วมกันสละเงินส่วนตัวทำขึ้นมาเพื่อเป็นแนวกันช้างป่า โดยมั่นใจว่าเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดในการป้องกันไม่ใช้ช้างบุกรุกเข้ามากินและทำลายพืชผล แต่ชาวบ้านไม่มีเงินมากพอจึงขอให้คณะฯ ช่วยผลักดันงบประมาณการก่อสร้าง

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!