พิจิตร-“CoO พิจิตร” kickoff ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง
ภาพ/ข่าว:ธีระพล คุ้มสุข
“CoO พิจิตร” kickoff ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และสร้างการรับรู้เกษตรกร ศพก.หลัก
นายวีระชัย เข็มวงษ์ เกษตรจังหวัดพิจิตร ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร (CoO) ได้กล่าวถึง สถานการณ์พืชเศรษฐกิจหลักสำคัญในช่วงสถานการณ์วิกฤตภัยแล้ง จังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะข้าว ที่จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 1,750,000 ไร่ ในฤดูนาปี และกว่า 600,000 ไร่ ในฤดูนาปรัง
แต่เนื่องจากวิกฤติภัยแล้ง ทำให้เกษตรกร ปลูกข้าวได้ประมาณ 370,000 ไร่ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ –มีนาคม 2563 เป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวของเกษตรกรบางรายได้รับการทำลาย จากบั่ว ซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญของข้าว ในช่วงฤดูแล้ง ในขณะที่มีเกษตรกรได้ปรับตัว ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทดแทนการทำนาปรัง ได้แก่ ถั่วเขียว กว่า 22,000 ไร่ ซึ่งได้ผลตอบดี ผลผลิต เฉลี่ยไร่ละ 200-240 กิโลกรัม ๆละ 25-27 บาท เกษตรกรมีกำไรเฉลี่ย 3,000 บาทต่อไร่ รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ประสบปัญหา หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด แต่เกษตรกรสามารถปรับตัวเองได้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2563 ผลผลิตเฉลี่ยข้าวโพดเลี้ยง 970 กิโลกรัมต่อไร่ และพืชผักแปลงใหญ่ ที่อำเภอบึงนารางมีน้ำใต้ดินเพียงพอ ทำให้มีผลผลิตส่งตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดอื่นๆ วันละประมาณ 20 ตัน แต่มีพืชที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะยงชิด ทีอำเภอสากเหล็ก และอำเภอวังทรายพูน รองลงมาคือ ส้มโอที่เขตอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้สำคัญส่งออกต่างประเทศ
นายวีระชัย เข็มวงษ์ เกษตรจังหวัดพิจิตร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าจากสถานการณ์วิกฤติภัยแล้ง ดังกล่าว ได้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน CoO จังหวัดพิจิตร แบ่งเป็น 4 คณะ รับผิดชอบคนละ 3 อำเภอ ประกอบด้วย คณะที่ 1 มี เกษตรจังหวัดพิจิตร เป็นหัวหน้าคณะทำงาน รับผิดชอบอำเภอสากเหล็ก วังทรายพูน และอำเภอทับคล้อ คณะที่ 2 มอบหมายผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร เป็นหัวหน้าคณะทำงาน รับผิดชอบ อำเภอเมืองพิจิตร โพธิ์ประทับช้าง และอำเภอตะพานหิน คณะที่ 3 มอบหมายเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิจิตร เป็นหัวหน้าคณะ รับผิดชอบอำเภอบางมูลนาก ดงเจริญ และโพทะเล และคณะที่ 4 มอบหมายให้ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร รับผิดชอบอำเภอสามง่าม วชิรบารมีและบึงนาราง เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา สร้างการรับรู้ถึงมาตรการ แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนด kickoff ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อเนื่อง ถึงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2563 ร่วมกับคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาการเกษตรระดับอำเภอ(OT) จนกว่าสถานการณ์ภัยแล้ง จะคลี่คลาย ต่อไป