ฉะเชิงเทรา-‘GISTDA’ ตามหาอารยธรรมแผ่นดินทอง ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ

ฉะเชิงเทรา-‘GISTDA’ ตามหาอารยธรรมแผ่นดินทอง ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ

ภาพ/ข่าว:สุรเชษฐ์ จันทร์ทอง

            “ดร.สมเจตน์” นำนักวิชาการจาก จิสต้า (GISTDA) ใช้พื้นที่ศูนย์รังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา จัดสัมมนา “ตามหาอารยธรรมแผ่นดินทอง ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ”

                เมื่อวันที่ 2 ก.พ. รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานอนุกรรมการโครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสนเทศ (สทอภ.) องค์การมหาชน หรือจิสต้า (GISTDA) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดการประชุม หารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอารยธรรมสุวรรณภูมิ ในการนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาสุวรรณภูมิ สู่การสร้างสุวรรณภูมิในศตวรรษที่ 21 และเสนอกรอบแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอารยธรรมสุวรรณภูมิ บนเส้นทางปากโขง-ปากมังกร ณ ศูนย์รังสรรค์อารยธรรมสุวรรณภูมิ (ธารา รีสอร์ท) เลขที่ 39/5 หมู่ 7 ต.หัวไทร อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
                การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อร่วมกันสร้างแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมร่วมสุวรรณภูมิสู่อาเซียน โดยมี ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง รศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์ ดร.ลักขณา สท้านไตรภพ พร้อมด้วย พระภิกษุ นักวิชาการ วัฒนธรรมจังหวัด สถานศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด และสระแก้ว เข้าร่วมรับฟัง และให้ข้อเสนอแนะ จำนวนกว่า 70 คน โดยในงานได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของแผ่นดินสุวรรณภูมิจากในยุคอดีต และการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการไปจนถึงในยุคปัจจุบัน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมหารือ และรับฟังการปาฐกถา และบรรยายพิเศษในวันนี้ ที่ต่างพากันเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการด้วยความสนใจ

                รศ.ดร.สมเจตน์ ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “แนวคิดหลักปรัชญาสุวรรณภูมิ สู่การพัฒนารากฐานประเทศ” ซึ่งในการเสาวนาได้มีการนำแผนที่โลกจากยุคโบราณ ในอดีตของชาวกรีก แผนที่ “ปโตเลมี” มาเปรียบหารอยต่อทางอารยธรรม กับแผนที่ปัจจุบัน และภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อหาผืนแผ่นดินทองของสุวรรณภูมิที่แท้จริง เพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันอย่างหลากหลายมิติ ทั้งด้านภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของรัฐด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิทยาการ และการผลิต เช่น ความก้าวหน้าทางวิทยาการ การเดินเรือ ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้สุวรรณภูมิ เป็นศูนย์กลางทางการค้า ระหว่างโลกตะวันตก และโลกตะวันออก การจัดการเกษตรการจัดการน้ำ และการขุดค้นจนพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในอดีต และการจัดการเชิงพื้นที่ เทคนิคและเทคโนโลยีการผลิตภาชนะ เครื่องมือ จากเครื่องปั้นดินเผา เหล็ก และสำริด ตลอดจนมิติด้านการค้าขาย พาณิชย์ และการบริการ มรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรม ศาสนา เพื่อสร้างความร่วมมือในกลุ่ม 5 ชาติสุวรรณภูมิ วัฒนธรรมร่วมในศตวรรษที่ 21 แห่งอาเซียน ประกอบด้วย อินเดีย ไทย พม่า อินโดนีเซีย และจีน ตามแผนวัฒนธรรมเสริมโครงการเส้นทางสายไหมใหม่จีน ให้เป็น “สุวรรณภูมิ อารยธรรมเชื่อมโลก”.

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!