ฉะเชิงเทรา-ดังอีก! ผ้าไหมทอมือแบรนด์ “โส๊ดละออ”

ฉะเชิงเทรา-ดังอีก! ผ้าไหมทอมือแบรนด์ “โส๊ดละออ”

ภาพ/ข่าว:สุรเชษฐ์ จันทร์ทอง

               ผ้าไหมทอมือแบรนด์ “โส๊ดละออ” (ผ้าไหมผืนสวย) ของชาวบ้านอ่างเตย อ.ท่าตะเกียบ “โกอินเตอร์” ได้แรงสนับสนุนจากสมาคมสตรีแห่งชาติฯ กรมพัฒนาชุมชน และ จ.ฉะเชิงเทรา

                   วันที่ 3 มี.ค. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ (MOU) 3 ฝ่าย ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ระหว่าง สภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ กรมการพัฒนาชุมชน และจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รอง ผวจ.ฉะเชิงเทรา นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ นางจิรพรรณ คงเคารพธรรม รักษาการแทนนายกเหล่ากาชาดฉะเชิงเทรา น.ส.ฉัตรประอร นิยม พัฒนาการ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน จำนวน 28 แห่ง เข้าร่วมลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ ณ โรงแรมซันไรส์ ลากูน โฮเทลแอนกอล์ฟ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

                   โดยการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทย อันมีอัตลักษณ์และทรงคุณค่า ศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ทั่วโลกได้ชื่นชม ซึ่งต้องการร่วมมือกัน ในการเชิญชวนภาคีเครือข่ายในจังหวัด ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ในการร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย แบรนด์ “โส๊ดละออ” (ผ้าไหมผืนสวย) บ้านอ่างเตย หรือแบรนอื่นๆ ซึ่งหากคนไทย 35 ล้านคน ใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้นคนละ 10 เมตรๆ ละ 300 บาท จะสร้างรายได้ 105,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวนั้นจะกระจายถึงคนในชุมชน และอีกหลายชีวิต จะทำให้เศรษฐกิจของชาติ เกิดการหมุนเวียน เกิดความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งแสดงถึงการมีวัฒนธรรมที่ดีงาม

                     สำหรับ ผ้าไหมทอมือ ของชาวบ้านที่บ้านอ่างเตย ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นผลงานของชาวบ้าน ที่ช่วยกันถักทอเส้นไหมผิวเรียบเนียนสม่ำเสมอ จากฝีมือการสาวไหม ทำให้ชนะเลิศระดับประเทศ จนมาเป็นแบรนด์ “โส๊ดละออ” (ผ้าไหมผืนสวย) บ้านอ่างเตย ถือเป็นชุมชนต้นแบบ เพราะเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมครบแบบวงจร สร้างผลงานคุณภาพ ซึ่งเกิดจากสามารถรักษาวิถีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตเส้นไหม และการทอผ้าไหมไทยให้อยู่คู่ชุมชนอย่างเข้มแข็งมานาน หากบูรณาการระหว่างส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ช่วยในการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาคุณภาพผ้าไหมของชาวบ้านในท้องถิ่นนี้ ก็จะสามารถจำหน่ายผ้าไหมเชิงพาณิชย์ได้ เพราะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สวยงาม.

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!