ประจวบคีรีขันธ์-ลงพื้นที่ประจวบฯ ดูข้อเท็จจริงปัญหาขาดแคลนน้ำ

ประจวบคีรีขันธ์-ลงพื้นที่ประจวบฯ ดูข้อเท็จจริงปัญหาขาดแคลนน้ำ

ภาพ/ข่าว:พันธุ์พงษ์ โพธิ์จินดา

อนุกรรมาธิการเรื่องน้ำ ลงพื้นที่ประจวบฯ ดูข้อเท็จจริงปัญหาขาดแคลนน้ำ

            วันที่ 5 มีนาคม 2563 นางพัชรวีร์ สุวรรณิก อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำภาคตะวันตก สภาผู้แทนราษฎร นายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการฯ พร้อมด้วยนายดิเรก จอมทอง และคณะทำงาน ได้เดินทางลงพื้นที่ ต.ห้วยทราย และ ต.ตำบลเกาะหลัก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสำรวจและติดตามข้อเท็จจริงในพื้นที่ๆ ประสบปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ก่อนผลักดันเข้าสู่แผนการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน มีผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลรายละเอียด
              โดยจุดแรกได้ลงพื้นที่หมู่ 13 บ้านหนองจับไก่ ต.ห้วยทราย พบว่าอ่างเก็บน้ำดิบประปาหมู่บ้านตื้นเขิน ก่อนหน้านี้ต้องไปสูบน้ำจากเขื่อนตาพรหมที่อยู่ห่างออกไปกว่า 1 กิโลเมตรมาใช้ แต่ขณะนี้น้ำแห้งขอด ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก ต้องหาซื้อน้ำมาใช้กันเอง หลายเดือนที่ผ่านมาผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านได้ร่วมกันจัดประชุม ขอให้นายพรเทพและนายวิชิต ฐานะเป็นที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมาธิการฯ เรื่องน้ำ ช่วยผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต่อมาทางสำนักงานชลประทานที่ 14 ได้ส่งคณะทำงานลงมาสำรวจด้านเทคนิคทางวิศวกรรม กระทั่งมีการบรรจุแผนงานก่อสร้างและตั้งงบประมาณไว้จำนวน 17 ล้านบาท ด้วยการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำน้ำโจน หมู่ 6 บ้านหุบไผ่ มายังอ่างเก็บน้ำหมู่ 13 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร พร้อมทั้งขุดลอกอ่างเก็บน้ำน้ำโจนและอ่างเก็บน้ำหมู่ 13 เพื่อให้เก็บน้ำได้มากขึ้น

               จากนั้นคณะได้เดินทางต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหุบผึ้ง หมู่ 3 บ้านหนองขาม ต.เกาะหลัก มีนายเมธา ศักดิ์เกิด ปลัดอบต.เกาะหลัก รักษาการนายกอบต.เกาะหลัก นายมานพ ครุฑเผือก กำนัน ต.เกาะหลัก พร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้านจาก 11 หมู่บ้าน ให้การต้อนรับและให้ข้อมูล อ่างเก็บน้ำหุบผึ้ง สร้างโดยกรมชลประทาน เมื่อปี 2539 ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของ อบต.เกาะหลัก มีขนาดความจุ 0.18 ล้านลบ.ม. มีการขุดขยายเพิ่มปริมาตรความจุในปี 2558 แต่กลุ่มผู้นำท้องที่เห็นว่า หากได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังด้วยการขุดขยายเพิ่มเติม และก่อสร้างท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ลุ่มด้านล่างก่อนแยกไปตามหมู่บ้านต่างๆ จะมีประชาชนหลายหมู่บ้าน หลายร้อยหลังคาเรือน ได้รับประโยชน์ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรอย่างแน่นอน ทั้งนี้ผู้นำท้องที่ได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำภาคตะวันตก สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้พิจารณาโครงการด้วย

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!