เชียงใหม่-บูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมรับมือภัยแล้งอย่างยั่งยืน

เชียงใหม่-บูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมรับมือภัยแล้งอย่างยั่งยืน

ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่

   จังหวัดเชียงใหม่ บูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมรับมือภัยแล้งอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำเอาศาสตร์พระราชามาปรับใช้อย่างครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

วันนี้ (23 มี.ค.63) เวลา 13.30 น. นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562-2563 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1(เชียงใหม่) ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เกษตรและสหกรณ์เชียงใหม่ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุม ณ ชั้น 2 ห้องประชุมโครงการชลประทานเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือแนวทางที่จะบูรณาการทุกหน่วยงานในการเตรียมรับมือในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง
      จากที่ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป ปริมาณฝนรวมจะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติ ประกอบกับข้อมูลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ในประเด็นการสรุปการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปี 2562/2563 แม้จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จะสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้น แต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ยังคงมีความเสี่ยงเนื่องจากมีปริมาณฝนสะสมน้อย ไม่อยู่ในเขตชลประทาน และไม่มีแหล่งเก็บน้ำสำรอง จึงอาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้
      ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยมีพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งด้านการเกษตร (นอกเขตชลประทาน) จำนวน 140,038 ไร่ ได้แก่ อำเภอดอยหล่อ จอมทอง ดอยเต่า ฮอด แม่วาง พร้าว ฝาง และอำเภอแม่ริม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการจัดทำแผนการปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคู่แนะนำให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย พร้อมกับให้คำแนะนำในการดูแลไม้ผลไม้ยืนต้น ตลอดจน ได้สำรวจแหล่งน้ำสำรอง และประสานการขุดเจาะบ่อบาดาลไปเบื้องต้นแล้ว
สำหรับ แนวทางการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ จะน้อมนำเอาศาสตร์พระราชามาปรับใช้โดยการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่การดึงน้ำจากฟ้ามาใช้ประโยชน์ การสงวนรักษาแหล่งต้นน้ำลำธาร การอนุรักษ์ดิน อนุรักษ์น้ำ ไปจนถึงการบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นั้นมิได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องน้ำ หากแต่ทรงมองปัญหาอย่างเป็นระบบและพัฒนาครบอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งถือเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนน้อมนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการคลี่คลายบรรเทาปัญหาและเป็นแนวทางไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!