ปราจีนบุรี-จับภาพขณะ “ดาวหางแอตลาส” แตกตัว
ภาพ/ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ
สดร. แจง! ใช้กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ จับภาพขณะ “ดาวหางแอตลาส” แตกตัว ส่งผลให้ความสว่างปรากฏลดลงจนไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า เผยอาจพลาดชมแน่นอนแล้ว
วันนี้ 16 เม.ย.63 ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ปราจีนบุรี ได้รับแจ้งจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ใช้กล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติ ณ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ร่วมติดตาม เก็บข้อมูล และบันทึกภาพ “ดาวหางแอตลาส” ขณะนิวเคลียสกำลังแตกตัว ส่งผลให้ความสว่างปรากฏลดลงจนไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า เผยอาจพลาดชมแน่นอนแล้ว
นายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ เผยว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ ภายในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เก็บข้อมูลและบันทึกภาพดาวหางแอตลาส หรือดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) จำนวน 2,000 ภาพ พบว่าดาวหางกำลังแตกตัว สามารถสังเกต “นิวเคลียส” หรือก้อนน้ำแข็งบริเวณใจกลางดาวหางและส่วนที่แยกออกมาได้อย่างชัดเจน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นายเย่เฉวียนจื้อ จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ และนายจางฉีเชิน จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ได้รายงานในฐานข้อมูล Astronomer’s Telegram ถึงลักษณะของนิวเคลียสที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจหมายความว่าใจกลางของดาวหางดวงนี้กำลังแตกตัว ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน 2563 ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลจอนห์มัวร์ส ในสหราชอาณาจักร รายงานผลการติดตามดาวหางไปยังฐานข้อมูลเดียวกัน หลังจากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.0 เมตร เก็บภาพดาวหางดวงนี้ และพบว่าดาวหางแยกออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน พร้อมกับค่าความสว่างที่เริ่มลดลงเรื่อย ๆ ยืนยันว่าดาวหางแอตลาสกำลังแตกตัวอย่างแน่นอน
นายสิทธิพรกล่าวเพิ่มเติมว่า นักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างเฝ้าติดตามดาวหางแอตลาส อย่างต่อเนื่อง และคาดหวังว่าจะเป็นดาวหางที่มองเห็นด้วยตาเปล่าในเดือนเมษายนปีนี้ แต่ขณะนี้ค่าความสว่างปรากฏ (แมกนิจูด) ของดาวหางไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ ลดลงเหลือประมาณแมกนิจูด10 (ความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ค่ายิ่งน้อยยิ่งมองเห็นชัด) ซึ่งเป็นไปได้ว่า ดาวหางดวงนี้อาจไม่สว่างพอที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่าอีกต่อไป เหตุการณ์ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลก เป็นเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ คาดการณ์ได้ และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีก ซึ่ง สดร. ในฐานะหน่วยงานด้านดาราศาสตร์ของประเทศ จะเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ เพื่อเก็บรวบรวมและสร้างฐานข้อมูล นำไปศึกษาวิจัยต่อยอดองค์ความรู้ให้กับสาธารณชนต่อไป นายสิทธิพร กล่าวปิดท้าย
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/