ปทุมธานี-เปิดตัวหุ่นยนต์โต้ตอบได้-วัดไข้ผู้ป่วย

ปทุมธานี-เปิดตัวหุ่นยนต์โต้ตอบได้-วัดไข้ผู้ป่วย

ภาพ/ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา

           รพ.ธรรมศาสตร์ฯจับมือ SIIT เปิดตัว น้องยูงทอง หุ่นยนต์อัตโนมัติโต้ตอบได้-วัดไข้ผู้ป่วยโดยไร้สัมผัส

วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลอง1 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ , รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ , ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ผู้บริหารบริษัท iApp Technology Co.,Ltd ร่วมแถลงเปิดตัวหุ่นยนต์ “น้องยูงทอง” ช่วยเหลือแพทย์-พยาบาลดูแลรักษาและให้บริการผู้ป่วย เตรียมนำมาใช้ที่ รพ.สนามธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
          หุ่นยนต์ยูงทองเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) และบริษัทไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด (iApp) ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี 5G ได้ มี Software ที่เป็นพื้นฐานได้แก่ ระบบปฏิบัติการเสียงภาษาไทย ซึ่งหุ่นยนต์ยูงทอง เป็น AI แชทบอท ภาษาไทย ที่นำมาสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบแพทย์ธรรมศาสตร์ทางไกล ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อจากคนสู่คน เพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย COVID-19 ที่สามารถให้บริการแทนทีมบุคลากรทางการแพทย์ได้ในบางกิจกรรม เช่น วัดไข้ แจกอาหาร/ยา การแจ้งเตือนต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย เพื่อติดตามอาการผู้ป่วยขณะรับไว้รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลและเมื่อกลับบ้าน เป็นต้นแบบนวัตกรรมด้านการรักษาพยาบาล สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ได้
            ด้านความสามารถของหุ่นยนต์ยูงทองโดยรวม 1.สามารถวัดไข้ของผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย โดยหุ่นยนต์จะใช้กล้อง Webcam ร่วมกับกล้อง Infrared Red เพื่อใช้ในการจดจำใบหน้า (Face Detection) และวัดอุณหภูมิของผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ เพียงยืนอยู่หน้ากล้อง 2 – 3 วินาที และจะทำการส่งผลการวัดไข้ให้บุคลากรทางการแพทย์โดยอัตโนมัติ 2. สามารถเดินทางส่งอาหาร ยา หรือสิ่งของ และเครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ ในห้องกักกันเชื้อได้โดยไม่ต้องใช้รีโมทคอนโทรล ซึ่งจะใช้เทคโนโลยี LIDAR สแกนสภาพภายในห้องพักของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติและจดจำตำแหน่งของเตียงผู้ป่วยไว้ หุ่นยนต์จะสามารถเดินทางไปส่งยาระหว่างช่องจ่ายยาและเตียงผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ เพียงแค่วางของไว้ที่ถาดด้านหลังของหุ่นยนต์และบอกปลายทางที่ต้องการให้ไปส่ง โดยไม่ต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องใส่ชุด PPE เดินเข้าไปในห้องกักกันเชื้อ 3. สามารถทำ Teleconference โดยบุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมหุ่นยนต์ผ่านแอพลิเคชัน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเดินตรวจวอร์ดได้จากภายนอกหรือจากที่พักอาศัย โดยหุ่นยนต์สามารถใช้งานได้นานต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง หลังจากการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 4. มีระบบ Chat Bot ที่สามารถพูดคุยและโต้ตอบเป็นภาษาไทย โดยบุคลากรทางการแพทย์สามารถเรียกชื่อของหุ่นยนต์ว่า “น้องยูงทอง” เพื่อเริ่มต้นส่งคำสั่งหรือส่งคำสนทนา และสามารถพูดคุยเล่นเพื่อคลายความกังวลของผู้ป่วยได้ ช่วยลดความจำเป็นในการเรียนรู้การใช้งาน หรือต้องใช้เจ้าหน้าที่มาคอยควบคุม
           ส่วนสิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมได้แก่ 1. การจัดหาอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพต่าง ๆ 2. การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล 3. ระบบให้บริการภาพรวม การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย 4. Customize บริการผู้ป่วยรายบุคคลในรูปแบบต่าง ๆ ที่จำเป็น ที่ผ่านมา “หุ่นยนต์น้องยูงทอง” ได้ผ่านการทดลองใช้ที่วอร์ดสูตินารี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และเป็นที่ประทับใจของพยาบาลเป็นอย่างมาก และได้นำไปใช้จริงในห้องกักกันเชื้อที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ซึ่งสามารถใช้งานจริงและเกิดประสิทธิภาพในการใช้งานและเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!