เชียงใหม่-เกษตรเขต 6 ผนึกกำลังศูนย์ผึ้งเชียงใหม่
ภาพ/ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่
เกษตรเขต 6 ผนึกกำลังศูนย์ผึ้งเชียงใหม่ เตรียมให้บริการวิเคราะห์น้ำผึ้งเกษตรกร หวังช่วยการตลาดให้ไปโลด
นายนวนิตย์ พลเคน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ นำผู้อำนวยการกลุ่ม หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบร่วมตรวจเยี่ยมห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำผึ้ง ของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางรัตนาภรณ์ กัญญาราช ผู้อำนวยการศูนย์พร้อมทีมงาน และเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งให้การต้อนรับ และนำเสนอข้อมูล โดยห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพน้ำผึ้งได้ปรับปรุงห้องทำงานเดิม พร้อมขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ตรวจคุณภาพ จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดขอนแก่น รวมกับของเดิมที่ศูนย์ผึ้งเชียงใหม่มีอยู่ มีการติดตั้งระบบและอุปกรณ์โดยผู้เชียวชาญจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่ลำปาง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ผลิตน้ำผึ้งที่มีคุณภาพให้ได้การรับรอง และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ผู้เลี้ยงผึ้งรายย่อยมีโอกาสทางการตลาดที่มั่นคงยิ่งขึ้น
โดย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ ได้ให้แนวคิดในภาพรวมว่า ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตร เป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่มี ฉะนั้น หน่วยงานของกรมส่งเสริมการเกษตร ต้องคิดว่าทำอย่างไร ที่จะให้เกษตรกรมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน ให้เกษตรกรเข้าใจแนวทางปฏิบัติให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จึงจะเป็นการสร้างตลาดที่มั่นคง
วันนี้ ส่วนราชการจึงจะต้องมีแนวคิดในการทำธุรกิจช่วยเกษตรกร ให้ขับเคลื่อนไปให้ได้ ในส่วนของศูนย์ผึ้งจะทำหน้าที่ส่งเสริมการเลี้ยง บริการวิเคราะห์และรับรองคุณภาพ ในส่วนของ สสก. 6 จะมีฝ่ายตลาดสินค้าเกษตร มาช่วยประสานงาน โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก ทางเว็บไซต์ และหากศูนย์ผึ้งเชียงใหม่ จะมีแผนงานโครงการอื่นใดเพื่อสนับสนุนเกษตรกรขอให้เสนอมาได้
ด้านนางรัตนาภรณ์ กัญญาราช ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้เผยว่า ขณะนี้ได้จัดทำโครงการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำผึ้ง โดยที่ผ่านมาได้เปิดรับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นปัจจุบัน ผ่านมาตรฐานการรับรองฟาร์มของกรมปศุสัตว์ แล้วให้ลงทะเบียนกับแจ้งความต้องการให้วิเคราะห์ตัวอย่างกับศูนย์ฯ จำนวน 150 รายแรกพร้อมส่งตัวอย่างมาวิเคราะห์ ฟาร์มไหนที่ที่ผ่านเกณฑ์จะมอบตรารับรองคุณภาพเฉพาะฟาร์ม พร้อมเชื่อมโยงเข้าสู่เว็บไซต์กาดนัดออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือด้านการตลาดโดยไม่เสียค่าบริการใดๆ ซึ่งต่างจากห้องแลบอื่นๆ ที่มีค่าบริการตัวอย่างละ 1,000 บาทขึ้นไป
ทั้งนี้ตัวอย่าง 150 รายที่ส่งมาแล้วจะสามารถวิเคราะห์คุณภาพน้ำผึ้งได้ภายในเดือน มิถุนายน 2563 นี้ การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของน้ำผึ้งไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีสินค้าคุณภาพแต่เข้าไม่ถึงการตลาด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรเหล่านี้มีโอกาสทางการตลาดที่ดีขึ้น และสามารถแข่งขันการค้ากับรายอื่นๆได้