วัชระยื่นป.ป.ช.ลงดาบฟันอัยการสั่งไม่อุทธรณ์คดีโอ๊คฟอกเงิน
ภาพ/ข่าว:วีระเดช เกิงฝาก
วัชระยื่น ป.ป.ช. ลงดาบฟันอัยการสั่งไม่อุทธรณ์คดีโอ๊คฟอกเงิน
(22 มิ.ย.63)นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ให้ดำเนินคดีกับพนักงานอัยการ คณะทำงาน รองอัยการสูงสุด อัยการสูงสุดกับพวก ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามกฎหมายอาญา ม. 157 และเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลงตามกฎหมายอาญา ม. 200 จากกรณีที่มีความเห็นไม่อุทธรณ์ต่อศาลสูงคดีนายพานทองแท้ ชินวัตร ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
นายวัชระ ชี้ว่า ศาลตัดสินยกฟ้องแต่มีผู้พิพากษาที่เป็นหัวหน้าคณะได้ทำความเห็นแย้งไว้ โดยให้ลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ 4 ปี และคณะทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ.มีมติว่าให้อุทธรณ์คดีต่อ ทางอัยการจะต้องอุทธรณ์คดีต่อศาลสูง เพื่อวินิจฉัยให้สิ้นกระแสความสงสัยต่อสาธารณชน แต่คดีนี้อัยการกลับมีความเห็นว่าไม่อุทธรณ์คดีต่อ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดกับดุลพินิจที่สั่งฟ้องในตอนเริ่มคดี เพราะตอนเริ่มคดีพนักงานอัยการต้องเห็นว่าจำเลยมีความผิดจริง จึงฟ้องคดี การที่มีความเห็นไม่อุทธรณ์ต่อ และให้ความเห็นว่าเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล แสดงให้เห็นว่าอัยการรู้อยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีความผิด แต่ใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องกลั่นแกล้งจำเลยเพื่อให้ได้รับโทษทางอาญาหรือไม่ การใช้ดุลพินิจที่ขัดกันในการสั่งคดีเดียวกัน ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน ไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล และไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของอัยการ
นายวัชระ ยังได้แนบฎีกาคดีต่างๆในการใช้ดุลพินิจของอัยการที่ไม่อุทธรณ์หรือไม่ฎีกาสำหรับการดำเนินคดีกับตระกูลชินวัตร ที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการดำเนินคดีกับประชาชนทั่วไป ซึ่งมีหลายคดีที่ควรจะจบและถึงที่สุดไปตั้งแต่ในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์แล้ว แต่อัยการกลับยื่นฎีกา ทั้งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่วนการดำเนินคดีกับบุคคลในตระกูลชินวัตรซึ่งเป็นความผิดต่อแผ่นดิน โดยมีราชการเป็นผู้เสียหายและการฎีกาคดีตระกูลชินวัตรจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่พนักงานอัยการจะทำให้คดีถึงที่สุดเพียงแค่ชั้นอุทธรณ์เท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.สามารถไต่สวนตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีของอัยการในคดีทั่วไปของประชาชน เพื่อใช้เปรียบเทียบกับการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีของอัยการในคดีของตระกูลชินวัตร ก็จะเห็นถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการสั่งคดีของอัยการได้ การกระทำของอัยการเปรียบเสมือนกับการตัดตอนความยุติธรรมมิให้นำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูง ซึ่งมิอาจยอมรับได้ จึงต้องยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.วินิจฉัยเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/