นครปฐม-11 มีนา นำฤกษ์ที่แรก ในดินแดนอีสาน คณะสงฆ์สวดมนต์ พระธาตุศรีสองรัก
ภาพ/ข่าว:ทีมข่าวนครปฐม
11 มีนา นำฤกษ์ที่แรก ในดินแดนอีสาน คณะสงฆ์สวดมนต์ พระธาตุศรีสองรัก
พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เผยว่า คณะสงฆ์วัดไผ่ล้อมพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา จัดโครงการสวดมนต์ถวายเป็นพุทธบูชาทุกพระธาตุทั่วไทย ร่วมกันทำความดีด้วยหัวใจ โดยคณะศิษยานุศิษย์พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระมงคลสิทธิการ หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข อมตะเถราจารย์ โครงการนี้เน้นวิถีปฏิบัติซึมซับบทสวดเจริญพระพุทธมนต์ เสริมสมาธิสติปัญญา เพื่อสมองแจ่มใส โดยอาตมาได้จัดเตรียมหนังสือสวดมนต์ ที่พิมพ์ขึ้นเป็นกรณีพิเศษ ครบทุกบทสวด อ่านง่าย สวดท่องตามได้อย่างสะดวกสบาย แจกฟรีให้กับทุกท่านร่วมพิธี ที่สำคัญครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ เริ่มต้นจากภาคแรกแดนดินถิ่นอีสาน สวดถวาย 10 พระมหาธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ถวายเป็นพุทธบูชา เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2562 เวลา 06.00 น. พระธาตุแรกที่พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย
หลวงพี่น้ำฝน กล่าวอีกว่า ประวัติความเป็นมา พระธาตุศรีสองรัก สร้างขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ผู้ครอบครองกรุงศรีอยุธยาแห่งอาณาจักรสยามสมัยนั้น และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต เวียงจันทร์ ทั้งนี้เนื่องจากในระหว่างที่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ครองราชสมบัติ ตรงกับสมัยที่พม่าเรืองอำนาจ เพราะพม่ามีกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการสงครามปกครองคือ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ และพระบุเรงนองได้ยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุตหลายคราว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงทำไมตรีกัน เพื่อร่วมกันต่อสู้กับพม่าและเพื่อเป็นที่ระลึกในการทำไมตรีกันครั้งนี้ ได้ทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็นสักขีพยานจึงได้ขึ้นชื่อว่า พระธาตุศรีสองรัก ตามตำนานกล่าวไว้ว่าได้สร้างขึ้น ณ ที่กึ่งกลางระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำน่านบนโคกไม้ติดกัน เริ่มสร้างแต่ พ.ศ.2103 และเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2106 และได้ทำพิธีฉลองสมโภชในวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 การสร้างพระธาตุศรีสองรัก นับเป็นสักขีพยานในความรักใคร่ของชนชาติเผ่าลาวในดินแดนล้านช้างสมัยนั้น มาตั้งแต่โบราณการเป็นอย่างดี และพระธาตุศรีสองรักนี้ ประชาชนในท้องที่จังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
หลวงพี่น้ำฝนกล่าวต่ออีกว่า พระธาตุศรีสองรัก คำว่า สองรัก เป็นชื่อของพระธาตุมาจากในครั้นที่สร้างพระธาตุเกิดขึ้นในคราที่อาณาจักรหงสาวดีในพม่ารุกรานอาณาจักรบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างอยธุยาและอาณาจักรล้านช้างในลาว ทั้งสองอาณาจักรจับมือร่วมกันเพื่อต้านทัพพม่าและทรงกระทำสัตยาธิษฐานว่าจะไม่ล่วงเขตแดนซึ่งกันและกันจารึกไว้ในแผ่นหิน พร้อมกับสร้าง พระธาตุสีสองฮัก บริเวณเนินสูงฝั่งตะวันออกของน้ำหมันถือเป็นหลักเขตแดนของทั้งสองอาณาจักร
พระธาตุศรีสองรักไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระบรมธาตุโดยตรง จึงไม่ได้มีอัฐิของผู้หนึ่งผู้ใดบรรจุอยู่ ทว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักเขตแดนของสองอาณาจักร ความศักดิ์สิทธิ์มาจากการสัตยาธิษฐานให้ดินแดนแถบนี้ห้ามใครล่วงล้ำ ไม่มีใครคิดคดที่จะรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งได้ นอกจากนี้ในความเชื่อของชาวบ้าน เชื่อว่าในองค์พระธาตุบรรจุพระพุทธรูป พระธรรมคัมภีร์ และยังมีตำนานเล่าขานถึง นายมั่นนายคง ที่ยอมทานชีวิตของตนเองเป็นข้าเฝ้าพระธาตุชั่วนิรันดร์อีกด้วย
จากตำนานมาถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุ เป็นศิลปกรรมแบบล้านช้างก่ออิฐถือปูน ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรง บัวเหลี่ยม คล้ายพระธาตุพนม พระธาตุหลวง เวียงจันทน์พระธาตุศรีโคตรบอง แขวงคำม่วน พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นถวายเป็นอุเทสิกเจดีย์ หมายถึงเจดีย์สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศให้พระศาสนา โดยไม่กำหนดว่าต้องเก็บรักษาสิ่งใด แต่ก็มีหลายคนเชื่อว่ากษัตริย์ทั้งสองพระองค์น่าจะนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระพุทธรูป พระธรรมคัมภีร์บรรจุไว้ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ
หลังจากเสร็จสวดมนต์ถวายพระธาตุศรีสองรักแล้ว ก็จะไปต่อกันที่ พระธาตุนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม วันที่ 12 มีนาคม 2562 เวลา 06.00 น. พระธาตุยาคู อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เวลา 09.00 น.พระธาตุภูเพ็ก อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เวลา 17.00 น.พระธาตุศรีคุณ อ.นาแก จ.นครพนม วันที่ 13 มีนาคม 2562 เวลา 06.00 น.พระธาตุนคร อ.เมือง จ.นครพนม เวลา 09.00 น.พญาศรีสัตตนาคราช อ.เมือง จ.นครพนม เวลา 17.00 น. พระธาตุเรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม วันที่ 14 มีนาคม 2562 เวลา 06.00 น.พระธาตุท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เวลา 17.00 น. พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม วันที่ 15 มีนาคม 2562 เวลา 06.00 น. พระธาตุขามแก่น อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เวลา 13.00 น. พระธาตุแก่นนคร อ.เมือง จ.ขอนแก่น สอบถามรายละเอียดได้ที่วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม โทร.085-4156464, 061-7826462, 061-7826264 www.watpailom.org