ปราจีนบุรี-นักดาราศาสตร์ชี้มีเฮ! ได้ลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ ครั้งเดียวในรอบกว่า 6,000 ปี

ปราจีนบุรี-นักดาราศาสตร์ชี้มีเฮ! ได้ลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ ครั้งเดียวในรอบกว่า 6,000 ปี

ภาพ/ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ

นักดาราศาสตร์ไทยเผย ตั้งแต่วันนี้ (19-23 กรกฎาคม 2563 ) ไทยมีลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ ประมาณ เนื่องจากโคจรออกห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นและกำลังเข้าใกล้โลก ช่วงหัวค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดินนานกว่า 2 ชั่วโมง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ชมด้วยกล้องสองตา และ ลุ้นตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทยครั้งเดียวในรอบกว่า 6,000 ปี

          เมื่อเวลา 22.40 น. วันที่ 19 ก.ค.63 นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ไทยและที่ปรึกษาหอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า “ตั้งแต่ในวันที่ 19 ก.ค.63 เราสามารถสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) ซึ่งเป็นช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ขณะนี้ดาวหางเริ่มแซงดวงอาทิตย์ขึ้นมา กลายเป็นดาวหางช่วงหัวค่ำ สามารถสังเกตการณ์ด้วยกล้องสองตา ยังไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้อง 2 ตา หรือ กล้องถ่ายรูป DSLR. ที่สามารถเปิดหน้ากล้องได้นาน ท้องฟ้าเปิดสามารถถ่ายภาพติด คาดว่าจะเห็นได้ดีที่สุดวันที่ 23 ก.ค.63 ที่ดาวหางเข้าใกล้และเส้นโคจรพ้นแสงสนธยาแล้ว แสงสนธยาคือแสงสีส้ม ๆ ช่วงอาทิตย์ตกดิน วิธีการสังเกตใช้กล้องสองตาส่องทันที หลังเห็นดวงอาทิตย์ขอบแดง ๆ ให้ใช้กล้อง 2 ตาส่องหาดาวหางทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สูงจากของฟ้า 17 องศา – 20 องศา” และกล่าวต่อไปว่า “ สำหรับดาวหางหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์และผู้คนบนโลก เนื่องจากปรากฏสว่างเหนือน่านฟ้าหลายประเทศ ต่างพากันติดตามและบันทึกภาพดาวหางดังกล่าวเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว จากข้อมูลล่าสุดพบว่าโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร
          สำหรับประเทศไทย ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2563 ดาวหางนีโอไวส์ จะปรากฏในช่วงรุ่งเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามาก และยังเพิ่งโคจรผ่านจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงถูกแสงอาทิตย์กลบ สังเกตได้ค่อนข้างยาก แต่ในช่วงครึ่งหลัง ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป ดาวหางนีโอไวส์จะเปลี่ยนมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสว่างในระดับที่ยังสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยกล้องสองตา และอาจลุ้นมองเห็นตาเปล่า จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ยลโฉมและบันทึกภาพความสวยงามของดาวหางดวงนี้โดยชมได้นานกว่า 3 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ที่ดีสุด คือช่วงวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควรแล้ว และคาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 5 แม้เป็นช่วงแสงสนธยา ก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยกล้อง 2 ตา หรือหากโชคดีท้องฟ้าสดใสอาจมองเห็นด้วยตาเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 21 กรกฎาคม เป็นคืนเดือนมืดไร้แสงจันทร์รบกวน เป็นโอกาสเหมาะที่จะเฝ้าสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ด้วยตาเปล่า ส่วนวันที่ 23 กรกฎาคม แม้เป็นช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุด แต่จากข้อมูลพบว่าดาวหางจะมีค่าความสว่างลดลง รวมทั้งในคืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตการณ์ดาวหางดังกล่าว และหลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้
          ตามที่นักดาราศาสตร์ได้คำนวณค่าอันดับความสว่างปรากฏของดาวหางนีโอไวส์ ขณะนี้ได้ผ่านช่วงสว่างมากที่สุดไปแล้ว แต่จากการสังเกตการณ์จริงพบว่าความสว่างไม่ได้ลดลงดังเช่นที่คำนวณไว้ จึงส่งผลดีต่อผู้สังเกตบนโลกที่จะยังคงมองเห็นดาวหางปรากฏสว่าง นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมา Planetary Science Institute’s Input/Oput facility ยังพบว่า ดาวหางนีโอไวส์ปรากฏหางฝุ่นและหางไอออนแยกออกจากกันอย่างชัดเจน สำหรับหางไอออนนั้นพบว่าเป็นหางโซเดียม จะสามารถสังเกตเห็นเฉพาะดาวหางที่สว่างมากๆ เท่านั้น ดังเช่น ดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale–Bopp) และ ดาวหางไอซอน (ISON) และจากการศึกษาในย่านรังสีอินฟราเรดพบว่านิวเคลียสของดาวหาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 กิโลเมตร มีขนาดใกล้เคียงกับดาวหางสว่างในอดีตอย่าง ดาวหางเฮียกูตาเกะ (Hyakutake) และดาวหางคาบสั้นอื่นๆ อีกหลายดวง
          สำหรับชาวไทยที่สนใจชมและถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ สามารถติดตามได้ในช่วงวันและเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 ยังเป็นวันที่ดาวเสาร์โคจรมาใกล้โลกที่สุดในรอบปี หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฉะเชิงเทรา หอดูดาวภูมิภาค ภาคตะวันออกที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯที่สุด จัดกิจกรรมสังเกตการณ์วงแหวนดาวเสาร์ในคืนใกล้โลกที่สุดในรอบปี ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมลุ้นชมดาวหางนีโอไวส์ ในวันดังกล่าวด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/NARITPage” นายวรวิทย์กล่าว

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!