สุพรรณบุรี-เปิดโครงการอบรมสัมมนาโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน

สุพรรณบุรี-เปิดโครงการอบรมสัมมนาโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน

ภาพ/ข่าว:มงคล  สว่างศรี

                     นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดโครงการอบรมสัมมนาโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน

                       นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดโครงการอบรมสัมมนาโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ณ อาคารเอนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลบางเลน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมผู้เข้าร่วมโครงการนายสุวัฒน์ จันทร์สว่าง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี นายปิยพจน์ เกียรติชูสกุล ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอสองพี่น้อง ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดสุพรรณบุรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.และประชาชนอำเภอสองพี่น้อง จำนวน 300 คน ร่วมงาน โดยมีดร.ภูนท สลัดทุกข์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มจร.วิทยาเขตนครสวรรค์ และผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาภูมิปัญญาสร้างสรรค์ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน คือ การนำน้ำไปเก็บที่ชั้นใต้ดินในชั้นหินอุ้มน้ำ เหมือนกับฝากเงินไว้กับธนาคาร วันไหนที่เดือดร้อนเรื่องเงิน คุณก็สามารถนำเงินที่เก็บออมไว้มาใช้ได้ ซึ่งธนาคารน้ำใต้ดินก็เหมือนกัน ช่วงหน้าฝนที่มีน้ำมาก ธนาคารน้ำใต้ดินจะช่วยดูดซับน้ำเพื่อนำไปกักเก็บไว้ที่ชั้นหินอุ้มน้ำ เมื่อถึงช่วงหน้าแล้ง ก็สามารถสูบน้ำมาใช้ได้ธนาคารน้ำใต้ดิน มี 2 ประเภท คือธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบปิด และธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบเปิด ถ้าทำธนาคารน้ำใต้ดิน 2 ประเภท ควบคู่ไปด้วยกันจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

                     ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบปิดใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพ และชั้นดินของแต่ละพื้นที่ โดยมีขั้นตอนดังนี้ขุดบ่อให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ จากนั้นใส่ยางรถยนต์เพื่อป้องกันขอบบ่อพังทลายจากนั้นใส่วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น หิน อิฐ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ขวดน้ำ (ใส่น้ำ 2 ใน 3 ส่วน), ท่อนไม้ หรือเศษปูนให้เต็มช่องว่างด้านนอกยางรถยนต์นำท่อ PVC มาวางตรงกลางบ่อเพื่อเป็นช่องระบายอากาศ นำวัสดุชนิดเดียวกับที่ใส่ช่องว่างด้านนอกมาเติมใส่ช่องว่างด้านในให้เต็มคลุมด้วยผ้าไนล่อน แล้วทับด้วยก้อนหิน และตามด้วยหินละเอียดอีกที เพื่อเป็นตัวกรองให้เศษดิน หรือขยะไม่ให้เข้าไปอุดตันในบ่อ เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะไหลสู่ชั้นใต้ดินโดยตรง ผ่านธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบปิดที่ทำขึ้นมา

                       ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบเปิดเป็นการเปิดผิวดินเพื่อที่จะสามารถใช้น้ำในระดับผิวดินได้เลย โดยจะมีการขุดบ่อขนาดใหญ่ แต่ขนาดเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ และความต้องการ โดยมีขั้นตอนดังนี้ เจาะพื้นบ่อเป็นหลุม 3 หลุมให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้น้ำไหลลงชั้นหินอุ้มน้ำได้ดี และมีช่องสำหรับถ่ายเทอากาศจากโพรงใต้ดินเมื่อถูกน้ำเข้าไปแทนที่ โดยน้ำที่นำมาเก็บนั้นมาจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น น้ำฝน หรือน้ำจากการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบปิด ซึ่งเมื่อน้ำถูกเติมลงชั้นใต้หินอุ้มน้ำปริมาณมากพอ น้ำจะเอ่อล้นมาที่บ่อโดยอัตโนมัติ ซึ่งเกษตรกรสามารถสูบน้ำจากบ่อนี้มาใช้ได้ทันที วิธีนี้จะช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องขุดเจาะหาแหล่งน้ำ หรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำไกลๆ ประหยัดพลังงาน แถมช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ ประโยชน์ของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน1.แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง 2.แก้ปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง 3.ช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินน้ำบาดาล 4.ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดินทำให้ต้นไม้และพืชเขียวทั้งปี 5.ลดปริมาณน้ำเสียในชุมชน 6.ลดความเสียหายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ถนนขวางทางน้ำ การกัดเซาะถนนของน้ำหรือน้ำป่าไหลหลาก) 7.ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและป้องกันไฟป่า 8.ช่วยลดการเกิดโรคระบาดจากแมลงต่างๆ เช่น ยุง แมลงวัน 9.แก้ปัญหาน้ำเค็ม โดยการส่งน้ำจากผิวดินลงไปกดทับน้ำเค็มที่มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าไม่ให้ขึ้นมาปนเปื้อนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร
                   โดยนายไพทูรย์ วงค์วีรกูล นายอำเภอสองพี่น้อง ได้กล่าวขอบคุณนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี นายสุวัฒน์ จันทร์สว่าง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และดร.ภูนท สลัดทุกข์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มจร.วิทยาเขตนครสวรรค์ และผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาภูมิปัญญาสร้างสรรค์ ผู้บรรยายให้ความรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!