นครนายก-การฝึกการบริหารวิกฤติการณ์ระดับชาติ(C-MEX 19) จังหวัดนครนายก
ภาพ/ข่าว:สมบัติ เนินใหม่
รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมการฝึกทดสอบแผนเผชิญเหตุการณ์ฝึกวิกฤตการณ์ระดับชาติ C-MEX 19 ด้านการต่อต้านการก่อการร้ายระดับชาติ
ที่นครนายกเมื่อเวลา 15.30 น. (15มี.ค.62) พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้การต้อนรับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางตรวจเยี่ยมการฝึกทดสอบแผนเผเชิญเหตุภายใต้กรอบการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ C-MEX 19 ด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ณ โรงเรียนเตรียมทหาร อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
การก่อการร้ายที่ยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงตอประชาคมโลก ภูมิภาคและประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปัจจุบันรูปแบบการก่อการร้ายมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งมีความซับซ้อน มีการขยายอิทธิพล แนวคิด และมีการก่อเหตุที่รวดเร็วแต่เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาก่อการร้าย รัฐบาลจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายพุทธศักราช 2560-2564 ตลอดจนการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายขึ้น เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ พุทธศักราช 2561-2580 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำไปพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กองบัญชาการกองทัพไทย จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล พัฒนาขีดความสามารถให้มีความพร้อม โดยที่ผ่านมาได้จัดการฝึกร่วมผสมกับเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมิตรประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการฝึกอบรม “ด้านการบริหารวิกฤตการณ์” โดยมีวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์สูงจากต่างประเทศ มาทำการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมจากทุกภาคส่วน
สำหรับในปีนี้ถือเป็นวารสำคัญที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและกองบัญชาการกองทัพไทย จึงได้ร่วมกันจัดการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติประจำปี 2562 ภายใต้รหัส “บ้านนา 62” หรือ C-MEX 19 ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม 2562 โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจในการบริหารเหตุการณ์วิกฤตที่เกิดจากการก่อการร้าย รวมทั้งภัยพิบัติที่เกิดจากเหตุการณ์ก่อการร้าย ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงระดับผู้ปฏิบัติ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ กองทัพภาคที่ 1-4 ผู้บัญชาการตรวจภาค 1-9 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดทั่วประเทศ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเชิญปฏิบัติการในขั้นตอนการบริหารเหตุการณ์ การควบคุมบังคับบัญชา และการประสานงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ที่อาจจะต้องเป็นผู้บริหารเหตุการณ์ในฐานะหน่วยเผชิญเหตุขั้นต้น (First Responder) เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมปฏิบัติงานภายใต้สภาวะวิกฤติให้บรรลุภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการฝึกฯ ในครั้งนี้ มีกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,670 นาย
ผลที่ได้รับจากการฝึก คือการทำให้มีการพัฒนาระบบเตรียมพร้อม และการบริหารจัดการภัยคุกคามให้มีประสิทธิภาพ ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงกระบวนการประสานงาน ประสานแผน และการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการ สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันที่เข้มแข็งในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศมีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย และภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป..