เชียงใหม่-สว.ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำคลองแม่ข่า
ภาพ-ข่าว:นันธิกา กิจปาโล/ศราวุธ เจิมจันทร์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
สมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่หารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแม่ข่า และเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำคลองแม่ข่า พร้อมฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ นำไปสู่การแก้ไขภายใต้บทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป
วันนี้ (25 ก.ย. 63) วุฒิสภา โดยคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) นำโดย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) คนที่หนึ่ง พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่หารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแม่ข่า กระบวนการฟื้นฟูคลองแม่ข่าโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และลงพื้นที่เยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำคลองแม่ข่า พร้อมฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขภายใต้บทบาทหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา
พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) คนที่หนึ่ง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในวันนี้รู้สึกชื่นใจที่ทางจังหวัดเชียงใหม่ และทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการพัฒนาจนเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งความก้าวหน้าก็เป็นไปได้ด้วยดีพอสมควร พร้อมกล่าวชื่นชมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จนทำให้คลองแม่ข่าเกิดเป็นภาพที่สวยงาม อย่างไรก็ตามจากการรับฟังบรรยายของทางกรมชลประทาน เทศบาลนครเชียงใหม่ และองค์การจัดการน้ำเสีย จะเห็นว่าทั้ง 3 ส่วน ได้มีความพยายามที่จะร่วมมือกันพัฒนาให้คลองแม่ข่ากลับสู่สภาพเดิม แต่ปัญหาใหญ่คือเรื่องของงบประมาณ ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ และหากมีโอกาสทางคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาฯ ก็จะนำเรื่องนี้เรียนสู่ผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบและพิจารณางบประมาณลงมาให้การช่วยเหลือ เพื่อให้คลองแม่ข่า ที่อยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ กลับมาเป็นคลองที่ใสสะอาดและอุดมสมบูรณ์
ขณะที่ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) ได้กล่าวชื่นชมความพยายาม ความร่วมมือของชาวบ้าน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนา ดูแลให้คลองแม่ข่าใสสะอาด และมองว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาให้จุดดังกล่าวเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไป
ทั้งนี้ โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) มีพื้นที่การดำเนินงาน 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ประชาชนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ กลุ่มการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน และสื่อมวลชน รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ สามารถเป็นเวทีที่ได้เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยกันขับเคลื่อนประเทศตั้งแต่ระดับ ฐานรากจนถึงระดับประเทศ ให้พัฒนาไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมโดยรวม นำไปสู่สังคมที่ประชาชนมีความสุข และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้าน บนพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข