หนองคาย-เปิดตำนาน ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เมืองพญานาค “ธิดาเมืองปากห้วยหลวง “
ภาพ-ข่าว:พฤตินัย มั่งสวัสดิ์
ขอบคุณข้อมูลภาพ:น.พ.สรร สุนทรธนากุล
เมืองศิลาจารึก เมืองปากห้วยหลวงในอดีต เป็นเมืองลูกหลวงและเมืองด่านสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง จึงมีศิลาจารึกมากที่สุด ซึ่ง ศ.ธวัช ปุณโณทก ได้เพียรพยายามถ่ายรูปและอ่านครบทุกหลัก เมื่อ พ.ศ.2510 เป็นต้นมา ศิลาจารึกส่วนมากสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21-22 มีสาระสำคัญ เช่น ประกาศเขตวิสุงคามสีมา การอุทิศที่นาให้วัด การอุทิศข้าทาสถวายวัด การสร้างบูรณะวัด การตั้งสังฆราชการประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินฯ ตัวอักษรเป็นแบบตัวธรรมผสมฝักขาม (ล้านนา) พัฒนาเป็น “อักษรไทยน้อย” (ล้านช้าง) ซึ่งประเทศลาวใช้ปัจจุบัน หลักสำคัญที่สุด คือ “วัดแดนเมือง 2” ต.วัดหลวง หลักที่ 88 เป็นเสมาหินทราย สูง 1.20 เมตร กว้าง 0.69 เมตร สร้าง พ.ศ.2078 สมัยพระเจ้าโพธิสารราชพระชนกพระไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราช ว่า “ทั้งราชบัณฑิตชื่อนันทกุมารจำทูลพระราชอาญาลงไปชำนิในพระวิหารทั้งปวงในจันทบุรีราชธานี”
แสดงว่าเวียงจันทน์ (จันทบุรี) เป็นราชธานีก่อน พ.ศ.2078 แล้ว สอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวบ้านอำเภอท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่ มิใช่เป็นราชธานี พ.ศ.2103 เมือพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราช ถอยทัพหนีพม่าล่องมาจากเชียงใหม่ และหลวงพระบาง หลังจากนั้นเมืองปากห้วยหลวงก็ค่อย ๆ ลดความสำคัญลง คาดว่าเพราะการวิวาทกันภายในราชวงศ์ล้านช้าง ตั้งแต่พระบรมราชาแห่งนครพนม พระราชโอรส พระเจ้านันทราชกรีพาทัพมาปราบ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 พ.ศ.2241 ถึงเมืองคุกชายฟอง (เวียงคุก-บ้านทรายฟอง) และกวาดต้อนผู้คนกลับ จน พ.ศ.2250 สมเด็จเจ้าราชครูวัดโพนสเม็ก (ญาคูขี้หอม) อพยพคนไปซ่อมพระธาตุพนมครั้งที่ 4 ล่องไปจนตั้งอาณาจักรจำปาศักดิ์ และ พ.ศ.2310 พระวอ-พระตา วีรบุรุษอีสานนำอพยพครั้งใหญ่ลงไปสร้างอุบลราชธานี ยโสธรฯ จนเมืองนี้อาจร้างก็ได้
เมืองโพนพิสัย เมื่อญาคูขี้หอมอพยพผู้คนไปภาคใต้นั้น ศิษย์เอกสำคัญท่านหนึ่ง คือ “จารย์แก้ว” (หรือเจ้าแก้วบูลม บูฮม) ได้ตั้ง “เมืองทุ่ง” (ท่ง) หรือ “เมืองสุวรรณภูมิ” (อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองด่านหน้ายันกับเวียงจันทน์ เชื้อสายของท่านได้แยกย้ายสร้างบ้านแปงเมืองมากมาย เช่น เมืองร้อยเอ็ด เมืองสารคาม เมืองธวัชบุรี เมืองจตุรพักตร์พิมาน ฯลฯ ต้นตระกูลสำคัญของภาคอีสาน เช่น “ธนสีลังกุล ณ ร้อยเอ็ด ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม สุวรรณธาดา ฯลฯ ครั้น พ.ศ.2369 พระเจ้าไชยเชยเชษฐาธิราชที่ 3 (เจ้าอนุวงศ์) แห่งเวียงจันทน์ แข็งเมืองบุกมาถึงนครราชสีมา และถูกยันทัพกลับไป
ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 โปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นแม่ทัพหลวง เจ้าพระบดินทรเดช (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกมหาดไทยเป็นแม่ทัพหน้าปราบเวียงจันทน์ได้ครั้งที่ 1 แต่เจ้าอนุวงศ์หนีไปได้ จนสมุหนายกกรีฑาทัพมาปราบครั้ง 2 ตั้งทัพอยู่ค่ายพานพร้าว (บริเวณ นปข.ปัจจุบัน) และถูกหลอกล่อจนค่ายแตกหนีไปเมืองยโสธร คู่แค้นเวียงจันทน์ดั้งเดิมจึงตามมาสมทบ เช่น บุตรหลานพระบรมราชาแห่งนครพนม บุตรหลานพระวอ-พระตา แห่งอุบลราชธานี และบุตรหลานจารย์แก้วแห่งสุวรรณภูมิ ช่วยเจ้าคุณสมุหนายกถล่มเวียงจันทน์จน “ฮ้างดังโนนขี้หมาจอก” หน่วยโสถิ่ม (กล้าตาย) นำโดย ท้าวสุวอธรรม (บุญมา) อุปฮาดยโสธรได้เป็น “พระปทุมเทวาภิบาลที่ 1 แห่งหนองคาย” (แทนที่เวียงจันทน์) ต้นตระกูล “ณ หนองคาย” มาจะกล่าวบทไปถึง “ท้าวตาดี” บุตร พระยาขัติยวงษา (สีลัง) แห่งเมืองร้อยเอ็ดได้รับบัญชาจากเจ้าคุณแม่ทัพมาสกัดเจ้าอนุวงศ์ เพื่อมิให้หนีไปญวนอีก โดยตั้งทัพอยู่บ้านโพนแพง จึงเรียกกันว่า “เจ้าโพนแพง” ครั้นเสร็จศึกจึงยกเป็น “เมืองโพนแพง” ท้าวตาดีได้เป็น ” พระยาพิสัยสรเดช” เจ้าเมือง เมื่อ พ.ศ. 2373 ต้นตระกูล “พิสัยพันธ์” สืบมา