ปทุมธานี-ขับเคลื่อนโครงการวัดฯ สร้างสุข มุ่งสร้างสัปปายะด้วยวิถี 5ส
ภาพ/ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา
คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายร่วมอบต.คลองสามและชุมชนท้องถิ่น ขับเคลื่อนโครงการวัดฯ สร้างสุข มุ่งสร้างสัปปายะด้วยวิถี 5ส แบบมีส่วนร่วม เพื่อสนับสนุนงานส่งเสริมศีลธรรม ตามมติ มส. และคณะสงฆ์ปทุมธานี
ณ ศูนย์สื่อมวลชน วัดพระธรรมกาย ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือดำเนินงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (สร้างสัปปายะด้วยวิถี 5ส) ตามมติมหาเถรสมาคม และคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี ระหว่าง พระครูสังฆรักษ์รังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย, ผศ. (พิเศษ) ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสาม, นายสถาพร มาทรัพย์ กำนันตำบลคลองสาม, นายชัยชนะ จันทร์ทรานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลคลองสาม, นายวีระ วงษ์มั่งมี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลคลองสาม และนายองอาจ ธรรมนิทา ผู้แทนคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายได้ตกลงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (สร้างสัปปายะด้วยวิถี 5ส) โดยพัฒนาพื้นที่วัดให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม, การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ, การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้, การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาเชิงพุทธ และสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างวัดกับชุมชน ทำให้วัดมีความมั่นคง ชุมชนมีความเข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไป
สำหรับโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข นั้น มีฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคม ดูแลรับผิดชอบโครงการฯ มีสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุภาพ (สสส.), กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, บริษัทเอกชน และองค์กรภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ร่วมดำเนินการฯ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบและนำแนวคิดของ ๕ส ซึ่งประกอบไปด้วย สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย ลงสู่บริบทของวัด 2) เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ การเรียนรู้ และจิตใจ 3) เพื่อให้การขยายผลแนวคิดของ 5ส หลักสัปปายะ และหลักความความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ประชาชน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง 4) เพื่อพัฒนาจัดระบบฐานข้อมูลความรู้ในการพัฒนาวัดเพื่อส่งเสริมสุขภาวะด้านจิตวิญญาณ และเพื่อเป็นเครื่องมือในการออกแบบและปรับปรุงกายภาพของวัดให้เป็นสัปปายะสถาน และการพัฒนาสู่วิถีแห่งอารยชน 5) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในสังคมไทยรวมถึงกลุ่มวิชาชีพ ตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม การมีจิตอาสา ความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดสังคมสุขภาวะและความยั่งยืน 6) เพื่อส่งเสริมให้วัดมีผังแม่บทและแผนการพัฒนา สู่ความเป็นสัปปายะและพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมคุณภาพทางจิตวิญญาณให้กับสังคมไทย