อธิบดี พช. น้อมนำศาสตร์พระราชาเปิด “ฝายมีชีวิตวัดช้าง”

อธิบดี พช. น้อมนำศาสตร์พระราชาเปิด “ฝายมีชีวิตวัดช้าง”

ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน

           อธิบดี พช. น้อมนำศาสตร์พระราชาเปิด “ฝายมีชีวิตวัดช้าง” ป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างสมบูรณ์แบบ ช่วยฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศน์ป่าไม้อย่างยั่งยืน ชู “ฝายวัดช้าง” เป็นต้นแบบต่อยอดเป็นตลาดริมน้ำหนุนการท่องเที่ยววิถีพุทธ วิถีธรรมชาติ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดฝายมีชีวิตวัดช้าง “สามัคคี สร้างสรรค์ แบ่งปัน” ณ ริมคลองบ้านนา วัดช้าง ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริทฤษฎีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน และการสร้างฝายมีชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมี พระครูโสภณนาคกิจ เจ้าคณะอำเภอบ้านนา และเจ้าอาวาสวัดช้าง นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายอำนาจ แย้มศิริ ปลัดจังหวัดนครนายก นางวจิราพร อมาตยกุล นายอำเภอบ้านนา นายเสฏฐชัย ยุทธเศรษฐสิริ พัฒนาการจังหวัดนครนายก ตลอดจนผู้นำท้องถิ่น และประชาชนอำเภอบ้านนาเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพียงพระครูโสภณนาคกิจ กล่าวสัมโมทนียกถาความเป็นมาของฝายมีชีวิตวัดช้างว่า เมื่อก่อนลำคลองบ้านนา อำเภอบ้านนาซึ่งเป็นพื้นที่สูง เวลามีน้ำหลากมาก็จะไหลท่วมลงไปที่อำเภอองครักษ์ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ ในฤดูน้ำหลากไหลมาน้ำก็จะไหลหายไปหมด เมื่อถึงฤดูที่จะปลูกพืชผักสวนครัวหลังจากอาชีพทำนาก็ไม่มีน้ำเหลือใช้ อย่างไรก็ตามหลังจากได้มีการหารือกับพัฒนาการจังหวัดนครนายก และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จึงได้มีการสร้างฝายมีชีวิตขึ้นมาเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ถือว่าเป็นสิ่งมีประโยชน์ต่อชุมชนที่ได้มีน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและอื่นๆในยามหน้าแล้ง

              นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่ารู้สึกปลื้มใจที่พระเดชพระคุณท่านเอาใจใส่รวมกับศรัทธาญาติโยมในการช่วยกันสร้างฝายมีชีวิตกักเก็บน้ำ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ เป็นประโยชน์เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งกำลังความคิด กำลังกาย กำลังทรัพย์ นับเป็นคุณูปการสมควรอย่างยิ่งที่พวกเราจะได้ช่วยกันอุปถัมภ์ค้ำจุนช่วยเหลือดูแลให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวด้วยว่าปัญหาอุทกภัย หรือภาวะน้ำท่วมในฤดูฝน และปัญหาภัยแล้ง หรือภาวการณ์ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง รวมถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ ได้ทำความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนไทยเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้น การบุกรุกทำลายป่าพื้นที่ต้นน้ำลำธารและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสม เป็นหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญของปัญหาการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อลดความรุนแรง และบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในทุกรูปแบบทั้งนี้ วิธีการหนึ่งที่สำคัญและได้ผลดี คือ “ฝาย” ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริทฤษฎีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ผลักดันและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนทั่วประเทศได้เห็นความสำคัญแล้วหันมา “สร้างฝาย” ในพื้นที่ชุมชนของตนเองให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังช่วยฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศน์ป่าไม้ด้วยการใช้วัสดุจากธรรมชาตินอกจากเรื่องของการทำฝายมีชีวิตแล้ว ยังมีเรื่องของหลุมขนมครก การปลูกป่า 5 ระดับ ซึ่งการปลูกต้นไม้จะช่วยทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ขณะที่รากของต้นไม้ก็ทำหน้าที่เป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ช่วยทำให้น้ำไม่ไหลไปอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อน้ำซึมลงไปที่รากแล้วโคนต้นไม้ก็ช่วยให้น้ำใต้ดินอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการบริหารจัดการด้วยการใช้หญ้าแฝกที่จะช่วยป้องกันการพังทลายหน้าดินด้วย

                นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยกล่าวตอนหนึ่งในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ความตอนหนึ่งว่า การสร้าง “ฝายมีชีวิต” ที่เป็นการผสมผสาน “หลักการทรงงาน” ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เช่น การมีส่วนร่วม การระเบิดจากภายใน การปลูกป่าในใจคน การให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ไปจนถึงการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึง “ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม” เป็นกลไกบรรเทาความรุนแรงน้ำหลากและเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง และยังเป็นการเติมน้ำใต้ดิน หรือ “ชลประทานใต้ดิน” ด้วยกลไกทางธรรมชาติ ทำให้พื้นที่โดยรอบตัวฝายมีความชุ่มชื้น ฝายมีชีวิตวัดช้าง อำเภอบ้านนา เป็นฝายที่เกิดจากพลังความสามัคคีของทุกภาคส่วนที่มารวมกัน ณ สถานที่แห่งนี้ “ผมกราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณท่านเจ้าคณะอำเภอบ้านนา พัฒนาการจังหวัดนครนายก นายอำเภอบ้านนา ผู้นำท้องถิ่น พี่น้องประชาชนทุกตำบลของอำเภอบ้านนา ตลอดจน ข้าราชการทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน ผู้มีจิตศรัทธาที่สนับสนุนบริจาคทุนทรัพย์ ในการจัดหาวัสดุ ทราย เชือก ไม้ไผ่ กระสอบทราย น้ำ อาหาร และอื่นๆ ในการสร้างฝายมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่สุดของจังหวัด โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังช่วยฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศน์ของวัดช้าง และเทศบาลตำบลบ้านนา ต่อยอดเป็นตลาดริมน้ำ การท่องเที่ยววิถีพุทธ วิถีธรรมชาติ เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้า OTOP สินค้าการเกษตร นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยพลังของคนอำเภอบ้านนา บารมีของเจ้าคณะอำเภอบ้านนา การประสานงานของจังหวัดนครนายก โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก กรมการพัฒนาชุมชน และจิตใจอันแข็งแกร่ง สู้ไม่ถอยของครูฝาย ผู้เข้าถึงจิตวิญญาณของการเป็นครูฝาย….ศรัทธาที่เดินได้” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้าย โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบประกาศเกียรติคุณบัตรแก่ผู้มีส่วนร่วมในการสร้างฝายมีชีวิต จำนวน 27 คน และร่วมกิจกรรมปลูกต้นไทรบริเวณหูช้างของฝายมีชีวิต เพื่อให้รากยึดโยงตัวฝายสร้างความแข็งแรง และร่วมกิจกรรมลอยกระทงขอขมาพระแม่คงคา นอกจากนี้ยังได้จัดการแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP เด่นของจังหวัดนครนายก

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!