ประจวบคีรีขันธ์-ชาวประมงพื้นบ้านยันปลาโลมาถูกชำแหละ

ประจวบคีรีขันธ์-ชาวประมงพื้นบ้านยันปลาโลมาถูกชำแหละ

ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ

           ประมงเรือเล็กชายฝั่งยันไม่บริโภคปลาโลมา คาดเป็นฝีมือแรงงานประมงเรือพานิชย์- เจ้าหน้าที่ ทช.เร่งส่งสัตวแพทย์ชันสูตรซากถูกชำแหละจริงหรือไม่

            วันที่ 4 พ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีชาวบ้านปราณบุรีพบซากปลาโลมาหัวบาตร หรือที่ชาวประมงนิยมเรียกโลมากระซิก มีลักษณะถูกชำแหละเนื้อและหนังออกไปแล้วลอยมาเกยที่บริเวณชายหาดใกล้กับอุทยานท้าวโกษา (เขากะโหลก) อำเภอปราณบุรี ที่ผู้สื่อข่าวได้นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น คืบหน้าล่าสุดวันนี้ทางด้านสำนักงานบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) หลังจากทราบเรื่องได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ประจำหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจชันสูตรซากปลาโลมา เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตและพิสูจน์ว่าถูกชำแหละไปรับประทานจริงหรือไม่ หรือว่าถูกสัตว์กัดแทะ โดยขณะนี้ยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนขอลงพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียดและรายงานผู้บังคับบัญชาก่อน ซึ่งซากปลาโลมาขณะนี้ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องเย็นของมูลนิธิสว่างแผ่ไพศาลธรรมสถาน อำเภอปราณบุรี

             แต่ในเบื้องต้นทางด้านเจ้าหน้าที่ยอมรับว่าการควบคุม ตรวจสอบ หรือห้ามชาวประมงไม่ให้จับปลาโลมาเป็นไปได้ยาก เพราะลับหลังไม่รู้ว่าจะให้ความร่วมมือหรือไม่ จึงได้แค่พยายามประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือกับพี่น้องชาวประมงอยู่ตลอดเวลาว่าห้ามจับนำไปรับประทาน เนื่องจากเป็นสัตว์สงวนหายากใกล้จะสูญพันธุ์ หากจับไปรับประทานก็จะผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดี นายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกะได หมู่ 3 ต.อ่าวน้อย และเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เปิดเผยว่า กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเรือเล็กชายฝั่ง ไม่นิยมบริโภคปลาโลมา เพราะทุกคนรู้ว่าเป็นสัตว์สงวน และผิดกฎหมายหากนำขึ้นมาบนเรือ อีกทั้งปลาโลมายังเป็นสัตว์น่ารักเลี้ยงลูกด้วยนม เวลาออกไปทำการประมงหรือลากอวน ปลาโลมาเหล่านี้ก็จะ ว่ายตามเรือ หรือมาจับสัตว์เล็กหรือปลาตัวเล็กกินเป็นอาหาร แต่ถ้าหากพบเห็นติดอวนทุกคนส่วนใหญ่จะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งสาเหตุการตายของปลาโลมาส่วนมากจะเกิดมาจากขยะในทะเลซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และติดอวนของชาวประมงโดยไม่ได้ตั้งใจ จนทำให้เกิดบาดแผลและอักเสบจนเสียชีวิต ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าปลาโลมาถูกชำแหละนำเนื้อไปกินคาดว่า เป็นฝีมือของเรือประมงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่มากกว่า เพราะต้องออกทะเลเป็นเวลาหลายวัน มีอุปกรณ์ในการประกอบอาหารรับประทานในเรือครบครัน และส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ชอบแอบจับมากินเป็นอาหาร เหมือนดั่งเช่นปีที่ผ่านมาได้เคยมีเจ้าหน้าที่บุกจับเรือประมงพาณิชย์ที่แรงงานชาวเมียนมาร์ได้แอบลักลอบนำปลาโลมามาแล่ชำแหละแช่เย็นไว้รับประทานที่บริเวณสะพานปลา แต่กลุ่มประมงเรือเล็กไม่ได้ค้างคืน ออกไปจับปลาแล้วกลับเข้าฝั่งไม่มีอุปกรณ์สำหรับประกอบอาหาร นายจิรศักดิ์ กล่าว

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!