สุราษฎร์ธานี-กรมชลฯ ลุยพัฒนาระบบชลประทานท้ายเขื่อนรัชชประภาคาด

สุราษฎร์ธานี-กรมชลฯ ลุยพัฒนาระบบชลประทานท้ายเขื่อนรัชชประภาคาด

ภาพ/ข่าว:เอนก ธรรมใจ

          กรมชลฯ ลุยพัฒนาระบบชลประทานท้ายเขื่อนรัชชประภาคาดพื้นที่รับประโยชน์กว่า 1.54 แสนไร่

            กรมชลฯ เดินหน้าพัฒนาระบบชลประทานท้ายเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แก้ปัญหาน้ำไม่ถึงเกษตรกร เตรียมสร้างโครงการ อาคารทดน้ำและสถานีสูบน้ำใน “แม่พุมดวง-คลองแสง” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ คาดพื้นที่รับประโยชน์รวม 154,700 ไร่ ประเมินเข้ม! ผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมออกมาตรการบรรเทาพื้นที่ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประสบปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงเป็นประจำ โดยเฉพาะส่วนท้ายเขื่อนรัชชประภาที่ไม่มีระบบการกระจายน้ำเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง ทำให้เกษตรกรบริเวณท้ายน้ำของอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ ตำบลเขาพัง ตำบลพระแสง ตำบลพรุไทย ไม่สามารถนำน้ำจากเขื่อนรัชชประภาไปใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากไม่มีระบบชลประทาน ทำให้ปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนประมาณ 2,000-3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีไหลลงสู่ทะเล กรมฯ จึงจะดำเนินโครงการพัฒนาระบบชลประทานบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการพัฒนาที่ได้ดำเนินการแล้ว ให้มีการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างจริงจังจนถึงเกษตรกรระดับรากหญ้า
              โดยจากการศึกษาโครงการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำที่อยู่ในแผนพัฒนาของหน่วยงานในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำตาปี มีผลต่อการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ซึ่งตามแผนงานยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการลุ่มน้ำตาปี ตามแผนงานรายจ่ายระยะปานกลาง (MTEF) ร่วมกับที่เสนอเพิ่มเติมโดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา มีจำนวน 76 โครงการ เป็นจำนวนเงินรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 9,809.162 ล้านบาท กรมฯ ได้จัดลำดับความสำคัญของโครงการเพื่อนำไปศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงสรุปได้ว่า โครงการพัฒนาระบบชลประทานบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนรัชชประภา (สถานีสูบน้ำคลองแสงพร้อมระบบส่งน้ำ) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง มีความเหมาะสมที่จะนำไปศึกษาต่อไป นายเฉลิมเกียรติ กล่าวต่อว่า โครงการการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำจากการก่อสร้างอาคารทดน้ำในคลองพุมดวง เป็นรูปแบบฝายทดน้ำแบบบานพับได้พร้อมสะพานคอนกรีต กว้าง 8.00 เมตร ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีสูบน้ำ ในเขตบ้านหนองเตียน ตำบลบางงอน ห่างจากสถานีสูบน้ำมาทางด้านท้ายน้ำ 2,685 เมตร โดยตำแหน่งดังกล่าวมีระยะทางระหว่างตลิ่งซ้าย-ขวา ประมาณ 140 เมตร ระดับท้องคลอง -1.50 ม.(รทก.) เนื่องจากในช่วงฤดูน้ำหลากปริมาณน้ำหลากในคลองพุมดวงมีปริมาณมาก ซึ่งฝายทดน้ำแบบบานพับได้ก็จะพับตัวลงขนานกับลำน้ำไม่กีดขวางลำน้ำเหมือนกับฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำให้สภาพการไหลยังคงเดิม
            นอกจากนี้ จะมีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งคลองพุมดวงช่วงตั้งแต่บริเวณที่ตั้งอาคารทดน้ำถึงสถานีสูบน้ำ รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 1.77 กิโลเมตร ตามข้อเสนอของประชาชน โดยกำหนดรูปแบบเขื่อนป้องกันตลิ่ง เป็นชนิดแบบมีเสาเข็มและแบบลาดเอียง ตามความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและสภาพธรณีวิทยาของตลิ่ง  กรมชลประทานคาดว่ามีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 113,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน ประมาณ 74,000 ไร่ ครอบคลุม อำเภอพุนพิน และอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในขณะเดียวกัน ช่วงฤดูน้ำหลากปริมาณน้ำหลากในคลองพุมดวงมีปริมาณมาก ซึ่งฝายทดน้ำแบบบานพับได้ก็จะพับตัวลงขนานกับลำน้ำไม่กีดขวางลำน้ำ ทำให้สภาพการไหลยังคงเดิม “การพัฒนาโครงการอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยเหตุนี้กรมฯ จึงให้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการ โดยพบว่าตะกอนดินที่เกิดจากการก่อสร้าง อาจส่งผลต่อคุณภาพของน้ำและสัตว์น้ำ กิจกรรมก่อสร้าง อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนใกล้เคียง และประชาชนบางส่วนอาจสูญเสียที่ดิน เพื่อใช้ในโครงการ อย่างไรก็ดี กรมฯ จะใช้มาตรการเพื่อลดผลกระทบที่สำคัญ อาทิ วางแผนขุดเปิดหน้าดินส่วนใหญ่ ให้เสร็จก่อนฤดูฝน มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน และแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด และดำเนินการจ่ายค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินให้แล้วเสร็จก่อนก่อสร้าง นอกจากนี้กรมยังมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว

             รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโครงการพัฒนาระบบชลประทานบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนรัชชประภา (สถานีสูบน้ำคลองแสงพร้อมระบบส่งน้ำ) ลักษณะโครงการประกอบด้วย อาคารทดน้ำคลองแสง สถานีสูบน้ำคลองแสง และระบบส่งน้ำชลประทาน โดยลักษณะอาคารทดน้ำในคลองแสงเป็นชนิดฝายทดน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก อยู่บริเวณด้านท้ายน้ำของเขื่อนรัชชประภา ระยะทางตามลำน้ำคลองแสงประมาณ 6,300 เมตร อยู่ในเขตบ้านหน้าเขา ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยตำแหน่งดังกล่าวมีระยะทางระหว่างตลิ่งซ้าย-ขวา ประมาณ 93 เมตร ระดับท้องคลอง +4.70 ม.(รทก.)
ส่วนสถานีสูบน้ำคลองแสง ตำแหน่งที่ตั้งจะอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำเหนืออาคารทดน้ำคลองแสง ประมาณ 280 เมตร อยู่ในเขตหน้าบ้านเขา ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะทำหน้าที่สูบน้ำจากคลองแสงโดยส่งน้ำเข้าท่อส่งน้ำโดยตรง เพื่อกระจายน้ำสู่พื้นที่รับประโยชน์ด้วยระบบท่อส่งน้ำรับแรงดัน  ทั้งนี้ จากการออกแบบระบบส่งน้ำชลประทาน จะมีพื้นที่รับประโยชน์ศักยภาพของโครงการประมาณ 41,700 ไร่ อยู่ในเขตตำบลเขาพัง ตำบลพะแสง และตำบลพรุไทย อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวนครัวเรือนรวมทั้งสิ้น 2,490 ครัวเรือน ซึ่งจากการพิจารณาสภาพภูมิประเทศของพื้นที่รับประโยชน์ ที่มีสภาพเป็นลูกคลื่นสลับลูกเนินสลับที่ราบจะเหมาะสมกับระบบส่งน้ำชลประทานชนิดท่อส่งน้ำรับแรงดัน โดยมีท่อส่งน้ำสายหลัก 2 สาย คือ LMP และ RMP รวมความยาวประมาณ 20.7 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำสายรอง 11 สาย รวมความยาวประมาณ 34.8 กิโลเมตร ปัจจุบันพื้นที่รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะทำการปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมีการปลูกสวนผลไม้บ้างเล็กน้อย “กรมฯ ได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลกระทบและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการดังกล่าว เช่น มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านอุทกวิทยาน้ำผิวดิน ด้านคุณภาพน้ำผิวดิน ด้านคุณภาพน้ำใต้ดิน ด้านนิเวศวิทยาทางน้ำ ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้านเศรษฐกิจสังคม และด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวสรุป

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!