ราชบุรี -เกษตรกร วอนชลประทานช่วยปล่อยน้ำทำนาปรังแก้ปัญหาหนี้สิน

ราชบุรี -เกษตรกร วอนชลประทานช่วยปล่อยน้ำทำนาปรังแก้ปัญหาหนี้สิน

ภาพ/ข่าว:สุจินต์ นฤภัย

                            เกษตรกร วอนชลประทานช่วยปล่อยน้ำทำนาปรังแก้ปัญหาหนี้สิน

             เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 ที่ศาลาเอนกประสงค์ อบต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ชาวบ้านจาก 10 ตำบล กว่า 100 คน เดินทางมารับฟังปัญหา กรณีที่มีการยื่นหนังสือถึง น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ในเรื่องขอความอนุเคราะห์ประสานงานเรื่องการส่งน้ำให้แก่เกษตรกรสำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2563/64 จึงได้มีการจัดประชุมชี้แจงขึ้น โดยมีนายทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอเมืองราชบุรี , นายอำนาจ ชูวงษ์ ผอ.สนง.โครงการชลประทานที่ 13 , นายประสาน สุขอินทร์ ผอ.การโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกา , นายพันธุ์เดช โกมารกุล ณ นคร ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาฝั่งซ้าย , นางดวงสมร พฤฑฒิกุล เกษตรจังหวัดราชบุรี และนายณฤทธิ์ บุญชัย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี พร้อมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจง โดยมีการตั้งจุดตรวจคัดกรองตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามขั้นตอน               ทั้งนี้หลังจาก น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ได้นำเสนอในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา โดยผ่านประธานรัฐสภา ร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าแก้ปัญหาการทำนาปรัง ให้กับเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรผู้ทำนาปรังทั้ง 10 ตำบล ประสบปัญหากรณีชลประทานไม่ปล่อยน้ำให้ทำนาปรัง หลังมีมติในที่ประชุม ครม.ครั้งที่ 45/2563 เมื่อวันที่ 3 พ.ย.63 เรื่องขอความร่วมมือเกษตรกรในเขตพื้นที่ส่งน้ำชลประทานลุ่มน้ำแม่กลอง งดทำนาปรัง ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย จึงได้มีการจัดประชุมชี้แจงและรับฟังปัญหาของเกษตรกรผู้ทำนาปรังขึ้นในครั้งนี้              นายอำนาจ ชูวงษ์ ผอ.สนง.โครงการชลประทานที่ 13 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในปีนี้ ในเกณฑ์น้ำน้อย เช่นเดียวกับปี 2558/59 ทำให้การวางแผนจัดสรรน้ำ เพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ต้องวางแผนให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำทั้งด้านอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การสำรองน้ำไว้ใช้ในต้นฤดูฝน ของปี 64 และการทำเกษตรกรรม สามารถบริหารจัดการได้อย่างลุล่วง เพียงพอต่อน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าน้ำน้อย ผอ.สนง.โครงการชลประทานที่ 13 กล่าวอีกว่า ตามปกติปริมาณน้ำจะมีเพียงพอต่อการจัดสรรตลอดทั้งฤดูฝน และฤดูแล้ง ซึ่งช่วงม.ค. จะมีน้ำมากกว่า 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้มีน้ำเพียง 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร จะแตกต่างจากปี 63 ปี ซึ่งมีน้ำอยู่ 8,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปีนี้ยังทำนาปรังไม่ได้ เนื่องจากมติ ครม.ได้วางแผนเพาะปลูก แต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำแต่ละพื้นที่ โดยลุ่มน้ำแม่กลองถือเป็นหนึ่งในลุ่มน้ำที่อยู่ในมติ ครม. ที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ จะส่งน้ำไปให้ผู้เพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองฤดูแล้งปีนี้ ได้วางแผนการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อย ประมาณ 1290,000 ไร่ เป็นพืชไร่ พืชผัก พืชที่ใช้น้ำน้อย เพียงแต่พื้นที่ปลูกข้าว มีอยู่ประมาณ 880,000 ไร่ จะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ “ทางสำนักงานชลประทานที่ 13 ได้วางแผนการจัดสรรน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมโดยการส่งน้ำเป็นแบบรอบเวร เนื่องจากมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมดหลายจังหวัด เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และบางส่วนของสุพรรณบุรี เพชรบุรี และสมุทรสาคร ซึ่งมีการแบ่งน้ำเป็นรอบเวร กรณีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงกุ้งและเพาะเลี้ยงกล้วยไม้นั้น เป็นส่วนของการส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ การควบคุมสภาพความเค็ม ทั้งส่วนแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ต้องบริหารจัดสรรน้ำให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่การเกษตรและพื้นที่อื่นๆ” ผอ.สนง.โครงการชลประทานที่ 13 กล่าว

               ด้านน.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 เปิดเผยว่า ปัญหาที่ได้รับเรื่องมาตั้งแต่เดือน พ.ย.- ธ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งตนได้มีโอกาสนำปัญหานี้ไปหารือในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยก่อนหน้านี้มีการหารือกับสำนักชลประทานที่ 13 ที่ดูแลลุ่มน้ำแม่กลองมาก่อนแล้ว ให้ทำแผนการบริหารจัดการน้ำ ในการเปิดและปิดน้ำ ทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวนา กลุ่มผู้ใช้น้ำว่ามีแผนงานอย่างไรบ้าง เช่น ชลประทานฝั่งขวา ชลประทานฝั่งซ้าย โครงการส่งน้ำท่ามะกา ต้องรีบไปทำความเข้าใจ พร้อมนำแผนดังกล่าวไปทำความเข้าใจกับชาวนาในพื้นที่ น.ส.กุลวลี กล่าวอีก ซึ่งวันนี้ตนยังประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังปัญหาชาวบ้านอีกด้วย เพื่อมาให้ความรู้กรณีหากปลูกข้าวไม่ได้จะทำอะไรได้บ้าง ได้พยายามเสนอเรื่องต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวนา กับหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะลงพื้นที่ และประชุมร่วมกัน เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ และช่วยเหลือชาวนาให้ดีที่สุด ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง กล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่มาประชุมกันนั้น เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก หลังไม่มีน้ำใช้ปลูกข้าวนาปรัง จนทำให้เป็นหนี้ซ้ำซ้อนกับทาง ธกส. ซึ่งทางภาครัฐไม่ได้ช่วยเรื่องปัญหาหนี้สิน และยังให้งดการทำนาปรัง แต่จะสนับสนุนให้ไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ซึ่งความเป็นจริงเกษตรกรผู้ปลูกนาปรัง ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีความรู้ที่จะไปปลูกพืชชนิดอื่น และเมื่อปลูกจะได้ผลมากน้อยขนาดไหน ทั้งจะนำผลผลิตไปขายที่ไหน จึงอยากให้ทางภาครัฐช่วยเหลือให้สามารถปลูกข้าวนาปรังได้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!