เชียงใหม่-จัดพิธีปิดการฝึกโครงการพระราชทาน “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง”

เชียงใหม่-จัดพิธีปิดการฝึกโครงการพระราชทาน “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง”

ภาพ/ข่าว:สุดาภรณ์ อินต๊ะธรรม 
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

           ทัณฑสถานหญิง รุ่นที่ 2/3 มุ่งหวังผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ เมื่อพ้นโทษออกไป

           วันนี้ (15 ก.พ. 64) เวลา 09.00 น. ที่ แดนเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีปิดการฝึกโครงการพระราชทาน “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” รุ่นที่ 2/3 พร้อมทั้งมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมตามโครงการ จำนวน 159 คน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ อันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

            โครงการพระราชทาน “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ รุ่นที่ 2/2 เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้น โคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเรื่อง รวมถึงมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิด การฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เมื่อพ้นโทษออกไปภายนอก สำหรับการฝึกโครงการพระราชทาน “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ รุ่นที่ 2/3 นี้มีผู้เข้ารับการฝึกทั้งสิ้น 159 คน ซึ่งกำหนดการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเวลา 14 วัน โดยแบ่งการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การอบรมพึ่งตนเองด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ขั้นที่ 2 การแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย การออกแบบแนวความคิด การบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็ก การประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้น โคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม การสร้างพื้นที่จำลอง และวางแผนการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น อีกทั้งการปฏิบัติในพื้นที่จริง มีขนาด 155 ตารางเมตร ตามทฤษฎีใหม่ และขั้นที่ 3 การสรุปและประเมินผล

             ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ทั้งสามารถช่วยเหลือประชาชนทำประโยชน์เพื่อส่วนร่วมได้ และเมื่อหลังจากที่ผู้ต้องขังได้พ้นโทษแล้ว ยังสามารถจะนำไปดำเนินการในพื้นที่ตามภูมิลำเนาของตนเอง อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า พร้อมที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!