นครสวรรค์-สปสช.ประชุมบอร์ด ขับเคลื่อนการบริหารกองทุน หลักประกันสุขภาพ

นครสวรรค์-สปสช.ประชุมบอร์ด ขับเคลื่อนการบริหารกองทุน หลักประกันสุขภาพ

ภาพ/ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ

              สปสช.เขต 3 นครสวรรค์ประชุมบอร์ด 2 คณะ ขับเคลื่อนการบริหารกองทุน หลักประกันสุขภาพ เพื่อให้เกิดคุณภาพสูงสุดแก่ประชาชน บอร์ด 2 คณะ ขับเคลื่อนของ สปสช.เขต 3 นครสวรรค์ เคาะ 3 มาตรการขับเคลื่อนสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ระดับเขตพื้นที่ของคณะอนุกรรมการระดับเขตพื้นที่ (อปสข. กับ อคม.) มุ่งแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

             เมื่อเวลา 09.00 – 13.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ที่ห้องประชุม โรงแรมโบนิโต้ ชิโนส์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 3 นครสวรรค์ โดย นพ.วงษ์สวัสดิ์ ตันวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการพร้อมผู้บริหารอีก 3 ท่าน ได้จัดเวทีประชุมพิจารณาแผนขับเคลื่อนสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ระดับเขตพื้นที่ ของคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) ซึ่งเป็นบอร์ดหลักด้านการพิจารณางบประมาณ มี รศ.(พิเศษ) ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ เป็นประธาน ร่วมกับ คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข(อคม.) ทำหน้าที่ควบคุมกำกับด้านคุณภาพบริการ มี นพ.ชาญชัย พิณเมืองงาม เป็นประธาน รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านต่าง ๆ อาทิ นพ.สมเกียรติ ขำนุรักษ์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 3 , นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด , ผู้อำนวยการโรงพยาบาล , ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชนในเขตพื้นที่ประมาณ 60 คนร่วมพิจารณาแผนขับเคลื่อนฯจำนวน 3 เรื่อง ที่มีการประชุมวิเคราะห์ปัญหาและจัดทำร่างแผนขับเคลื่อนร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาแล้วรวม 7 ครั้ง

แผนขับเคลื่อน ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ
1) งานสุขภาพแม่และเด็ก เป้าหมาย ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย และ พัฒนาการเด็กที่สมวัย เริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ ,การดูแลขณะตั้งครรภ์ ,การคลอดเน้นหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ส่วนเด็กเล็กเน้นในเรื่องพัฒนาการและการสร้างทักษะชีวิตให้แก่ผู้พ่อแม่ผู้ปกครอง และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย(สพด.)
2) งานโรคไม่ติดต่อ กลุ่มเป้าหมายคือโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เน้นการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีตั้งแต่วัยเด็กรวมถึงการดูแลรักษาเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน
3) งานวัณโรค มุ่งเน้นการค้นหากลุ่มเสี่ยงให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างครอบคลุมเพื่อลดการติดเชื้อในกลุ่มประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
ทั้ง 3 มาตรการมุ่งเน้นการสร้างเสริมความรอบรู้ (Health Literacy) ของประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น / ชุมชน / โรงเรียน / อสม./ ครอบครัว และ เชื่อมโยงกับภาคียุทธศาสตร์อื่นๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ,กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นต้น โดยที่ทั้ง 2 คณะ จะมีการวางแผนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมในระยะ 3-5 ปี และ การกำกับติดตามในพื้นที่ร่วมกันต่อไป

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!