อธิบดี พช. น้อมถวายราชสักการะ วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

อธิบดี พช. น้อมถวายราชสักการะ วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน

         อธิบดี พช. นำข้าราชการน้อมถวายราชสักการะ วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

             วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยมี นางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายนิวัติ น้อยผาง นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมในพิธี ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้วางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะ และจุดธูป เทียน เครื่องทองน้อย จากนั้นนำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน ถวายบังคมเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกล่าวคำถวายราชสดุดี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในโอกาส วาระบรรจบครบ 254 ปี วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 24 กุมภาพันธ์ 2564
               พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2310 และสืบพระราชสันตติวงศ์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2352 ในรัชสมัยของพระองค์นับเป็นช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรไทยเริ่มเข้าสู่ความสงบและมีความปึกแผ่นเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมชนกนาถ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎร ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมหลายด้าน สถาปัตยกรรม ประติมากรรม กวีนิพนธ์ และดนตรี ที่ปรากฏขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ยุคทอง” ทรงเป็นอัครกวี มีพระราชนิพนธ์มากมาย อาทิ รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา และทรงมีพระปรีชาสามารถด้านดนตรี โดยเครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดปราน คือ ซอสามสาย ซึ่งซอคู่พระหัตถ์ที่สำคัญ ได้พระราชทานนามว่า “ซอสายฟ้าฟาด” และเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก คือ “เพลงบุหลันลอยเลื่อน” หรือ “บุหลัน (เลื่อน) ลอยฟ้า” ทรงส่งเสริมสถาปัตยกรรม ประติมากรรม งานช่างด้านหล่อพระพุทธรูป โดยพระองค์ทรงพระราชอุตสาหะปั้นพระพักตร์ ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งของไทยด้วยพระองค์เอง ทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ทั้งนี้ ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการอันนำมาซึ่งความผาสุก ร่มเย็น สะท้อนให้เห็นถึงความสงบสุขของบ้านเมืองตลอดระยะเวลา 15 ปี ในรัชสมัยของพระองค์

              โดยวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี ยังได้กำหนดให้เป็น “วันศิลปินแห่งชาติ” ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังถึงพระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาในการนำพาชาติบ้านเมืองให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองสืบมาตราบปัจจุบัน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขอน้อมรำลึก เทิดทูน ถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารตลอดไป

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!