ประจวบคีรีขันธ์-อนุกรรมาธิการป้องกันแก้ไขและเยียวยาผลกระทบจากช้างป่า
ภาพ/ข่าว:พันธุ์พงษ์ โพธิ์จินดา
อนุกรรมาธิการป้องกันแก้ไขและเยียวยาผลกระทบจากช้างป่า พร้อมลงพื้นที่ติดตามกุยบุรีโมเดล
วันที่ 24 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังสำนักงาน นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 พื้นที่ อ.เมืองประจวบฯ อ.กุยบุรี และ อ.สามร้อยยอด เพื่อติดตามความคืบหน้าแผนการแก้ปัญหาช้างป่ารุกที่ทำกินของประชาชนในหลายพื้นที่โดยเฉพาะ 4 หมู่บ้าน ที่มีพื้นที่ติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หลังทราบข่าวว่าทางคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร มีกำหนดเดินทางศึกษาดูงานพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคม 2564 นี้
นายมนตรี กล่าวว่า ในฐานะตนเป็น ส.ส.ในพื้นที่และเป็นที่ปรึกษาในคณะกมธ.วิสามัญฯ ที่ผ่านมาตนได้ประสานกับนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ประธานฯ และ นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ เลขานุการ เห็นว่าคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญฯ และคณะที่ปรึกษาซึ่งมาจากหลายภาคส่วน ทุกท่านต่างมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาช้างป่ารุกที่ทำกินที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะโซนป่าตะวันออก(ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา) ซึ่งประสบความเสียหายอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ และป่าตะวันตก(กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์) ส่วนการศึกษาดูงานระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคมนี้ ทราบว่าคณะจะลงพื้นที่ อ.หัวหิน และ จ.กาญจนบุรี ยังไม่มีการลงพื้นที่ อ.กุยบุรี เพราะติดขัดเรื่องเวลาและการเดินทาง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ต้องสอบถามนายดิเรก จอมทอง ซึ่งเป็นคณะทำงาน และเป็นโฆษกอนุกรรมาธิการฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คณะกมธ.วิสามัญฯ แก้ปัญหาช้างป่า ได้มีมติให้จัดตั้งคณะอนุกมธ.ออกเป็น 3 คณะ โดยคณะที่ 2 คือ อนุกมธ.ศึกษาการป้องกันแก้ไขปัญหาช้างป่าบุกรุกที่ทำกินและเยียวยาผลกระทบจากภัยช้างป่าอย่างเป็นธรรม มีนายจารึก ศรีอ่อน เป็นประธาน ได้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ห้อง 601 อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 เพื่อขออนุมัติเดินทางลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานการบริหารจัดการเกี่ยวกับช้างป่ากุยบุรี ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ ในวันที่ 23 เมษายน 2564 ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นชอบอนุมัติให้ดำเนินการ “ขณะนี้ภารกิจของอนุกมธ.คณะที่ 2 คือ เร่งทำการศึกษาแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า และรูปแบบของแบริเออร์ที่สามารถแยกช้างป่าออกจากเขตพื้นที่อยู่อาศัยของคนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการหลายหน่วยงานในการออกแบบ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นพื้นที่หนึ่งที่คณะทำงานให้ความสนใจในการศึกษา ถือได้ว่าเป็นต้นแบบที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน โดยผสมผสานกับแบริเออร์มนุษย์ มีจิตอาสาและเกษตรกรในพื้นที่ในการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าร่วมกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีการสร้างรายได้จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเชิงอนุรักษ์อีกด้วย” นายจารึก กล่าว
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/