ศิษย์เก่าวิศวะ มข. จิตอาสาช่วยงานออกแบบโคก หนอง นา พช. สานฝันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้ปชช.
ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน
ศิษย์เก่าวิศวะ มข. จิตอาสาช่วยงานออกแบบโคก หนอง นา พช. สานฝันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้ประชาชนอย่างยั่งยืน
วันที่ 29 มี.ค. 2564 อาจารย์รักษ์เผ่า พลรัตน์ สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมประชุม สำนักงานพัฒนาชุมชนขอนแก่น โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงานสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น พัฒนาการอำเภอ และช่างโยธาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จาก 26 อำเภอ ของจังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ร่วมประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจ การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ณ ห้องประชุมเสียงแคน ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น อาจารย์รักษ์เผ่า พลรัตน์ กล่าวว่า ตามที่สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมกันสนับสนุนงานวิชาการ การออกแบบพื้นที่ต้นแบบ ให้คำปรึกษา ร่วมตรวจสอบและประเมินคุณภาพงานตามหลักวิชาการที่สอดคล้องกับเงื่อนไขในโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” นั้น ทางสมาคมฯ วิศวกรจิตอาสา ได้ร่วมสร้างความเข้าใจในการออกแบบการพัฒนาพื้นที่ ตามภูมิสังคม และความต้องการของเจ้าแปลงที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดิน ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ สามารถใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดและเป็นต้นแบบในการพัฒนาชีวิตให้มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และให้แนวทางการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันทั้งจังหวัด เพื่อให้การดำเนินโครงการ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เกิดความโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ
ด้านนางจิรภา เชื้อดวงผุย ผู้อำนวยกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชจังหวัดขอนแก่น กล่าวเสริมว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น ได้จัดประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ไขข้อสงสัย ปัญหาต่างๆ ในการดำเนินโครงการฯ กิจกรรมที่ 2 สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล และ พัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือนโดยเชิญเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่มีข้อสงสัย ทั้งในเรื่องของแบบแปลน การคำนวนปริมาตรดิน และพัฒนาการอำเภอ ทั้ง 26 อำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้นำประเด็นปัญหาที่เกิดจากดำเนินการไปบางส่วน อาทิเช่น ไม่มั่นใจในเรื่องการคำนวนราคากลาง การคำนวนปริมาตรดิน ตามรูปแบบมาตรฐาน หรือแบบที่ทำตามภูมิสังคม มาร่วมประชุม สร้างความรู้ ความเข้าใจ โดยจังหวัดขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 797 แปลง/ครัวเรือน แยกเป็น ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 255 แปลง ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 542 แปลง ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 69 แปลง ไม่สามารถใช้แบบมาตรฐาน ของกรมการพัฒนาชุมชนได้ทั้งหมด ต้องออกแบบตามภูมิสังคม และออกแบบเพิ่มเติม ซึ่งต้องอาศัยช่างโยธา ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ชัดเจน ตรงกัน สามารถทำรายละเอียดเอกสารเสนอขออนุมัตินายอำเภอ เร่งรัดการดำเนินงาน ให้ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถพัฒนาพื้นที่ ได้ทันตามฤดูกาล ทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคีต่อไปได้ สร้างความสมบูรณ์ในแปลง ดำเนินการ ด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ต่อไป
ในการนี้ อาจารย์รักษ์เผ่า พลรัตน์ กล่าวเน้นย้ำว่า ทางสมาคมฯ จะเร่งการดำเนินการปรับตารางปริมาตรดินขุดเพิ่มเติมในแบบ เพื่อให้เข้าใจง่าย ป้องกันการสับสนและสอดคล้องกับแบบมาตรฐานสัดส่วนพื้นที่ สามารถเลือกใช้แบบมาตรฐานได้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และยินดีจะนำข้อมูลจังหวัดขอนแก่นที่ต้องการออกแบบเอง ที่จำเป็นต้องให้วิศวกรชั้นสามัญ ในการรับรองแบบแปลน นำไปให้เพื่อนๆวิศวกรจิตอาสา มาช่วยในการสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” พร้อมให้คำปรึกษา พร้อมให้ความช่วยเหลือ เพื่อดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง โปร่งใส่ เป็นส่วนช่วยในการสานฝัน การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า Change for Good ส่งเสริมการทำงานและบริหารโครงการแบบบูรณาการเพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/