เชียงใหม่-เตรียมขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม
ภาพ-ข่าว:ศราวุธ เจิมจันทร์
สำนักงานงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมพิจารณาร่างประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ตามแนวทางขององค์การยูเนสโก ในการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก
วันนี้ (5 เม.ย. 64) ที่โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมพิจารณาร่างประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคเครือข่ายประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำร่างประกาศในครั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแนวทางขององค์การยูเนสโก ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เจริญรุ่งเรืองอย่างสมดุล
จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต และยังเป็นเมืองแห่งการสืบสานส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งมีหลักฐานและประจักษ์พยานที่แสดงออกถึงอัจฉริยะภาพและคุณค่าอันโดดเด่นในด้านวัฒนธรรมในระดับสากล นอกจากนี้ยังมีวิถีวัฒนธรรมล้านนาที่เจริญงอกงามมายาวนานกว่า 725 ปี ซึ่งตรงกับแนวทางเมืองมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกันริเริ่มดำเนินการโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตาม “โครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก” ขึ้นในปี พ.ศ. 2559 และมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายให้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก
สำหรับขอบเขตพื้นที่มรดกโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดไว้ ประกอบด้วย พื้นที่แหล่งมรดกเชียงใหม่ 18.30 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น เขตเมืองเก่าเชียงใหม่ 5.13 ตารางกิโลเมตร เขตเวียงสวนดอก 0.32 ตารางกิโลเมตร เขตวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง 0.05 ตารางกิโลเมตร และเขตดอยสุเทพ-เวียงเจ็ดลิน 12.61 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่กันชน ซึ่งเป็นพื้นล้อมรอบ พื้นที่แหล่งมรดกเชียงใหม่ อีก 182.85 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 201.15 ตารางกิโลเมตร
ทั้งนี้หลังจากที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลกแล้วนั้นคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ได้มากขึ้น และจะเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองที่คงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้ยั่งยืนสืบไป